รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ด้วยคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น
ในการประชุมครั้งที่ 2/2533 เมื่อวันที่
15 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ได้พิจารณาเห็นว่า ศาสตราจารย์
ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ
ที่มีผลงานดีเด่น ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
สาขาพันธุศาสตร์ เป็นผู้ที่สามารถผลิตผลงาน
วิทยาศาสตร์พื้นฐาน ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะด้าน การศึกษาเซลล์พันธุศาสตร์
ของยุงที่นำเชื้อมาลาเรีย จึงสมควรเชิดชูเกียรติ
ให้ประจักษ์โดยทั่วไป เพื่อเป็นแบบอย่าง
ให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม
ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ อายุ
49 ปี เกิดที่จังหวัดสุโขทัย เป็นบุตรคนที่
6 ในจำนวน 6 คน ของนายเกี๊ยด และนางแขก
ใบไม้ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา
และมัธยมศึกษา จากโรงเรียนกงราษฎร์อุทิศ
จังหวัดสุโขทัย และโรงเรียนมัธยมวิทยา
จังหวัดลำปาง ตามลำดับ และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สามพราน)
จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ. 2503-2504
ได้เข้าศึกษาเตรียมแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล
ในปัจจุบัน) ต่อจากนั้น เมื่อปี พ.ศ.
2505 ได้รับทุนโคลอมโบ ไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย
และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาสัตววิทยา
เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จาก มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์
เมื่อปี พ.ศ. 2508 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก
สาขาพันธุศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2512
จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน
เมื่อสำเร็จการศึกษา ศาสตราจารย์
ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 และได้รับตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับ
จนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์
ในปี พ.ศ. 2524
ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้มุ่งมั่นศึกษาและวิจัย
อย่างต่อเนื่องตลอดมา ตั้งแต่ช่วงเวลาการศึกษาระดับปริญญาเอก
เป็นผู้ที่ได้รับทุนวิจัยจากองค์การ
และหน่วยงานต่าง ๆ ติดต่อกันมา ตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2516 ผลงานเป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับประเทศ
และระดับนานาชาติ นอกจากมีผลงานวิจัยรวมถึง
76 เรื่อง และได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
เมื่อ พ.ศ. 2529 แล้ว ยังมีผลงานด้านตำราชีววิทยา
4 เล่ม และบทความต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ผลงานวิจัยโดยสรุปของ ศาสตราจารย์
ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้แก่ ผลงานการศึกษาคุณสมบัติ
ของแมลงหวี่ และยุงก้นปล่อง ในระยะแรก
ๆ ได้ใช้ความรู้และหลักการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ด้านเซลล์พันธุศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
จนสามารถแยกชนิดแมลงหวี่ ที่มีรูปร่างลักษณะ
คล้ายคลึงกัน และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก
ตามสายวิวัฒนาการออกจากกันได้ การแยกชนิดของแมลงหวี่ดังกล่าว
ไม่สามารถอาศัยหลักอนุกรมวิธานปกติได้
เนื่องจากลักษณะทางสันฐานวิทยาคล้ายคลึงกัน
ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์
ใบไม้ ได้ใช้หลักความรู้ และประสบการณ์
ซึ่งหาผู้ใดเทียบได้ยาก มาศึกษาในยุงก้นปล่อง
พาหะนำเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ
ประการหนึ่งของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.
วิสุทธิ์ ใบไม้ ประสบความสำเร็จในการศึกษาจนทราบว่า
ยุงก้นปล่อง พาหะนำเชื้อมาลาเรียที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย
และภูมิภาคเอเซีย และเอเชียอาคเนย์
ว่าเป็นชนิดใด มีแบบแผนการแพร่กระจายพฤติกรรม
ความสามารถนำเชื้อ และความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการอย่างไร
ผลงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์
ใบไม้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในอันที่จะสะสมความรู้
ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณสมบัติทางชีววิทยา
และธรรมชาติของยุงก้นปล่อง ชนิดที่เป็นศัตรูแท้จริง
ที่นำเชื้อมาลาเรียแพร่สู่คน และนำไปสู่การแสวงหา
มาตรการจัดการควบคุมสิ่งมีชีวิต ที่เป็นภัยต่อมนุษย์
และสัตว์เลี้ยง หรือนำสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่า
และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ มาใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
และมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหาย
ต่อสภาวะแวดล้อมเกินขอบเขต
ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นผู้ที่มีชีวิตและวิญญาณ
เป็นนักวิจัยที่แท้จริง เป็นผู้อุทิศเวลาให้กับงานวิจัย
อย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด เป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน
และทำงานที่เห็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
โดยไม่หวังผลตอบแทน นอกจากจะเป็นนักวิจัยโดยวิญญาณแล้ว
ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ ยังเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับ
เป็นครูที่เปี่ยมด้วยความรู้ และ ประสบการณ์ที่ไม่ล้าสมัย
เป็นที่เคารพรัก ของศิษย์จำนวนมากมาย
โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์
ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ
และคุณธรรมดังกล่าว คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น
จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง ศาสตราจารย์
ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น
สาขาพันธุศาสตร์ ประจำปีพุทธศักราช
2533
จากหนังสือ :
รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี
๒๕๓๓ : รองศาสตราจารย์ สดศรี ไทยทอง,
ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้.
[กรุงเทพฯ] : มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2533. ISBN 974-7576-65-1 |