logo


รางวัลเกียรติยศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
รศ. ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์
ทุนวิจัยจากมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์

รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะและโรคที่นำโดยพาหะ (CVVD) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการโครงการวิจัยหาสารป้องกันไวรัสไข้เลือดออกจากแบคทีเรียในเซลล์ยุงลาย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการป้องกันและรักษาโรคโดยไม่ต้องพึ่งสารสังเคราะห์ โครงการวิจัยนี้ผ่านการคัดเลือกจาก มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ภายใต้ โครงการ แกรนด์ ชาเลนจ์ เอ็กซโพเรชั่นส์ (Grand Challenges Explorations) โดยเป็นหนึ่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็น ๑ ใน ๑๐๔ โครงการจากประมาณ ๔,๐๐๐ โครงการทั้งหมดที่ส่งเข้ามา โครงการของ รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ ได้รับการพิจารณาให้รับทุนจำนวนกว่า ๓.๓ ล้านบาท (๑ แสนเหรียญสหรัฐ) สำหรับการเริ่มทำงานวิจัยและรายงานผลใน ๑ ปี

มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ จัดตั้งขึ้นสำหรับให้ทุนวิจัยหาวิธีการต่างๆ ที่ท้าทายและโดยส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีการวิจัยมาก่อนเพื่อการพัฒนาสุขภาพโลก รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับยุงพาหะและเชื้อไวรัสในยุงพาหะเพื่อหาวิธีควบคุมอยู่ก่อนแล้ว และได้พบแนวทางการคิดค้นนวัตกรรมใหม่สำหรับโรคไข้เลือดออกซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันหรือรักษา จากการค้นคว้าพบว่าในเซลล์ของยุงลายบางชนิดจะมีแบคทีเรียที่อยู่ร่วมกับเซลล์แบบพึ่งพาอาศัย (Endosymbiosis) ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสไข้เลือดออกจู่โจมเข้าไปในเซลล์ยุงลาย ทีมวิจัยจึงได้ตั้งสมมุติฐานว่า แบคทีเรียโวบาเกีย (Wolbachia) ที่อยู่ร่วมกับเซลล์ของยุงลายบางชนิดจะผลิตและหลั่งสารบางอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ของยุงเอง โดยทดลองศึกษาเปรียบเทียบระหว่างยุงที่มีแบคทีเรียโวบาเกียและยุงที่ไม่มีแบคทีเรียชนิดนี้ หลังการใส่เชื้อไวรัสไข้เลือดออกเข้าไป ผลที่ได้พบว่า ยุงที่มีแบคทีเรียดังกล่าวในเซลล์มีอัตราการติดเชื้อต่ำมาก

หลักการวิจัยโดยย่อเริ่มจากการเลี้ยงเซลล์ยุงลายในห้องปฏิบัติการ โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มคือ เซลล์ยุงลายที่มีแบคทีเรียโวบาเกียและเซลล์ยุงลายที่ไม่มีแบคทีเรียชนิดนี้ จากนั้นก็จะนำไวรัสไข้เลือดออก ใส่ในภาชนะเลี้ยงเซลล์ทั้ง ๒ กลุ่ม และศึกษาเปรียบเทียบเพื่อหาโปรตีนหรือสารแปลกปลอมที่แบคทีเรียโวบาเกียสร้างขึ้นเพื่อป้องกันเซลล์ติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ดี นักวิจัยชี้ว่า สารแปลกปลอมที่พบอาจจะมาจากแบคทีเรียโวบาเกีย หรือไวรัส หรือตัวเซลล์ของยุงลายเองก็เป็นได้ จึงจำเป็นต้องทดสอบและวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อหาสารดังกล่าว

"ในปีแรก จุดมุ่งหมายของงานวิจัยคือ การพิสูจน์สมมุติฐานที่ตั้งขึ้นว่า แบคทีเรียโวบาเกียในเซลล์ยุงลายสามารถสร้างสารที่มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีสารดังกล่าวนั้นจริงก็จะถือว่า งานวิจัยปีแรกประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง เมื่อรายงานผลไปยังมูลนิธิเกตส์ที่ให้ทุน ก็อาจจะได้รับการพิจารณาให้ทุนต่ออีกในช่วงที่ ๒ ระยะเวลา ๒ ปี ประมาณ ๓๓ ล้านบาทหรือ ๑ ล้านเหรียญสหรัฐ" รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กล่าว

หากพบสารดังกล่าวจริง นักวิจัยเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดเข้าสู่ขั้นตอนของการผลิตโปรตีนหรือสารดังกล่าว และในอนาคตจะสามารถพัฒนาถึงขั้นของการนำไปใช้ทดสอบทางคลินิก เป็นยาป้องกันหรือยารักษาโรคไข้เลือดออกได้ หากไม่พบสารดังกล่าว ก็จะยังไม่ล้มเลิก แต่จะศึกษาลึกลงไปดูที่ระดับของอาร์เอ็นเอ

"วัคซีนไข้เลือดออก เป็นความพยายามที่ทำกันกว่า ๒๐ ปี แต่ยังไม่มีวัคซีนที่ได้ผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากไวรัสไข้เลือดออกนั้นมีถึง ๔ สายพันธุ์ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพจึงต้องครอบคลุมป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการพัฒนา การศึกษาวิจัยเกื่ยวกับยาต้านเชื้อไวรัสก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันและรักษาโรคไข้เลือดออก" รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กล่าว

สำหรับการมอบทุนวิจัยของมูลนิธิเกตส์ในรอบแรกนี้เน้นการนำเสนองานวิจัยเพื่อค้นหาวิธีป้องกันหรือรักษาโรคติดต่อ เช่น เอดส์ และวัณโรค รวมทั้งการลดการดื้อยา นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับทุนวิจัยนี้ต้องแสดงให้เห็นว่าโครงการของตนอยู่นอกเหนือกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญหากการวิจัยประสบความสำเร็จ

"ทุนดังกล่าวจะกระตุ้นให้นักวิจัยไทยกล้าทำงานวิจัยแบบนอกกรอบ ซึ่งแหล่งทุนใหม่นี้เน้นงานวิจัยโรคติดเชื้อเขตร้อนที่เหมาะกับการวิจัยในบ้านเรา โดยการคัดเลือกจะเน้นที่เนื้อหาของโครงงานวิจัยโดยแท้จริง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ส่งโครงการวิจัย เพื่อให้คณะกรรมการผู้พิจารณามุ่งเน้นที่นวัตกรรมทางความคิดของผู้สมัครโดยไม่มองที่ประวัติ ถิ่นฐาน หรือความมีชื่อเสียงขององค์กร ทำให้ไม่ยึดติดกับงานวิจัยจากประเทศพัฒนาแล้วหรือเจ้าของรางวัลโนเบล" รศ.ดร.ปัทมาภรณ์ กล่าว