logo

Mahidol Science Innovative Educator Award

รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ (วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล)


“ในสังคมแห่งเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน วิถีชีวิตผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การสร้างนวัตกรรมการศึกษาเพื่อสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและสังคม รวมถึงสอนให้คนรู้เท่าทันทันการเปลี่ยนแปลงของโลกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

Q: สภาพปัญหาการศึกษาวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
A: โลกหมุนไปอยู่ตลอดเวลา และยิ่งหมุนเร็วขึ้นในยุคข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี การเรียนการสอนแบบเดิมที่เคยดีที่สุดในปีที่แล้วหรือสิบปีที่แล้ว อาจไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน
การสอนที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและสังคม รวมถึงสอนให้คนรู้เท่าทันทันการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  นวัตกรรมการสอนในความเข้าใจของผมประกอบด้วยความแปลกใหม่ในสองส่วน คือ ทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ

Q: มีผลงานด้านวิชาการที่เป็นนวัตกรรมการศึกษาอย่างไร
A: ผลงานวิชาการของผมที่เป็นนวัตกรรมการศึกษาส่วนใหญ่เกิดจากการวิจัยในชั้นเรียนและได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Chemical Education  ตัวอย่างบทความวิจัยหนึ่งที่ได้รับเชิญเข้าร่วม special issue ของวารสาร มีประวัติการพัฒนามายาวนานตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่คือการสาธิตความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการเคมี
จุดเริ่มต้นของผลงานเป็นการสาธิตทางวิทยาศาสตร์หรือ Science Show แต่นำมาปรับปรุงใช้ในบริบทที่เป็นการเรียนการสอน สองตัวอย่างการทดลองที่ผู้เรียนได้ทำและยังจำได้เสมอคือลูกโป่งแตกด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ และภูเขาไฟจากด่างทับทิมกับกลีเซอรอล
ไม้แหลมเป็นตัวแทนของอัตรายทางกายภาพที่อาจะเกิดขึ้นกับลูกโป่ง การทดลองสาธิตในกิจกรรมนี้ผู้เรียนเห็นว่าอัตรายทางเคมีจากตัวทำละลายอินทรีย์ที่ทำให้ลูกโป่งแตกได้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอันตรายทางกายภาพ ทั้งที่ตัวทำละลายอินเทรีย์ไม่ใช่กรดหรือเบสแก่
ในทำนองเดียวกันด่างทับทิมและกลีเซอรอลเป็นสารที่พบได้ในชีวิตประจำวัน  มีประโยชน์ใช้งานได้ ไม่ใช่กรดหรือเบสแก่ แต่ทำปฏิกิริยากันรุนแรง ใช้สอนเรื่องการจัดเก็บสารทั้งในประเด็นความเข้ากันไม่ได้ และการเก็บของแข็งไว้เหนือของเหลวเพื่อป้องกันไม่ให้ของเหลวรั่วไหลลงสู่ของแข็งและเกิดปฏิกิริยา

Q: ผลงานนี้เป็นนวัตกรรมอย่างไร มีผลกระทบต่อผู้เรียนอย่างไร
A: การเรียนการสอนแบบดั้งเดิมในกรณีนี้คือการเปิดวิดีโอในปฏิบัติการคาบแรกโดยยังไม่ได้ทำปฏิบัติการเลย นวัตกรรมที่จัดทำขึ้นใหม่คือให้ไปดูวิดีโอมาเองก่อน ส่วนในชั้นเรียนจัดทำกิจกรรมที่เป็นลักษณะ Science Show ทุกคนมีส่วนร่วมได้ สนุกไปด้วยกัน และเห็นความเชื่อมโยงระหว่างอันตรายหรือความเสี่ยงจากชีวิตประจำวันกับสิ่งที่จะได้พบในห้องปฏิบัติการ ผู้เรียนให้ความสนใจ จดจำได้ และนำไปปฏิบัติได้จริงมากกว่าการดูวิดีโอผ่านไปโดยไม่ได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรม


ปี 2565

ปี 2564