logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2555

 

นักวิจัย คณะวิทย์ มหิดล ค้นพบ "ปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ของโลก"

เมื่อวันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2555 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม K 101 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ศาสตราจารย์ ดร. ศกรณ์   มงคลสุข คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานให้สัมภาษณ์ เรื่อง นักวิจัย คณะวิทย์ มหิดล ค้นพบ "ปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ของโลก" คือ ปลากัดป่ามหาชัย และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามชื่อไทย ว่า "Betta mahachaiensis" ซึ่งเดิม ปลากัดป่าไทยในกลุ่มก่อหวอด ได้ถูกค้นพบเพียง 3 สายพันธุ์เท่านั้น ได้แก่ ปลากัดป่าภาคกลาง  (Betta splendens) ปลากัดป่าภาคอีตะวันออกเฉียงเหนือ (Betta smaragdina) และปลากัดป่าภาคใต้ (Betta imbellis) และยังไม่มีปลากัดป่าชนิดใดเลยที่มีชื่อวิทยาศาสตร์เป็นชื่อไทย

ผลงานวิจัยครั้งนี้ นอกจากเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในวงการปลากัดไทย และวงการค้าปลาสวยงามทั่วโลกแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์พันธุ์ เพราะเมื่อพิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ใหม่ ก็สามารถถูกบรรจุอยู่ในบัญชีปกป้องการสูญพันธุ์ของโลกได้  เพื่อให้มีการอนุรักษ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ปลากัดป่ามหาชัยของทีมวิจัยจาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งนี้ได้เริ่มต้นด้วยความสนใจในปลากัดป่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้วของ รศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์  ซึ่งได้เริ่มต้นโครงการวิจัยเพื่อศึกษาความหลากหลายของปลากัดป่าตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยมี รศ.ดร.พิณทิพ รื่นวงษา และนักศึกษาเข้าร่วมวิจัยต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่  ดร.อดิสรณ์ มนต์วิเศษ ดร.บัลลังก์ เนื่องแสง ดร.น้ำค้าง ศรีวัฒนาโรทัย นายชานนทร์ โควสุภัทร  และ  นายทัศนัย จีนทอง  สาเหตุที่ทีมวิจัยให้ความสนใจปลากัดป่ามหาชัยเป็นพิเศษและวิจัยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาหลักฐานพิสูจน์ว่าปลากัดป่ามหาชัยนั้นเป็นปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ และเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ไม่ใช่พันธุ์ผสม เพราะเป็นปลากัดป่าที่สวยงามและน่าสนใจในระดับนานาชาติเนื่องจากถกเถียงกันว่าเป็นพันธุ์แท้หรือพันธุ์ผสม ประกอบกับการที่นายอธิสรรค์ พุ่มชูศรี (ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตและส่งออกปลากัดชนิดต่างๆ) ได้ให้ข้อมูลจากการเพาะพันธุ์ว่าปลากัดป่ามหาชัยนี้น่าจะมีโอกาสเป็นพันธุ์ใหม่ และยังได้แนะนำแหล่งธรรมชาติของปลากัดป่ามหาชัย ในจังหวัดสมุทรสาคร ให้กับทีมวิจัยอีกด้วย

และแล้ว "ปลากัดป่ามหาชัย" ก็ได้รับการพิสูจน์และยืนยันสายพันธุ์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ทั้งทางสัณฐานวิทยาและชีวโมเลกุล หลักฐานทางสัณฐานวิทยา ได้แก่ ลักษณะรูปร่าง ขนาดของส่วนต่างๆ และสี (ปลากัดป่ามหาชัยจะมีสีตัวที่เข้มไล่จากสีน้ำตาลไปจนดำสนิท มีเกล็ดวาวประดับตั้งแต่สีเขียวอมฟ้าจนถึงสีเขียว เรียงอย่างสม่ำเสมอบนตัว แก้มมีขีด 2 ขีดเป็นสีเขียวอมฟ้า) หลักฐานนี้ใช้เพื่อบรรยายลักษณะสำคัญที่เกี่ยวข้องตามหลักมาตรฐานของคณะกรรมสากลเกี่ยวกับการตั้งชื่อสัตว์ (ICZN) ส่วนหลักฐานทางชีวโมเลกุล เป็นการใช้เทคนิค ดีเอ็นเอบาร์โค้ดเพื่อพิสูจน์สายพันธุ์ (จากการสร้างแผนผังวิวัฒนาการ) ว่าเป็นพันธุ์ใหม่ที่ต่างจากปลากัดป่าภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ และเป็นพันธุ์ใหม่มิใช่พันธุ์ผสม  ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวนี้ได้ถูกตีพิมพ์ (เมื่อตุลาคม 2555)ในวารสารระดับนานาชาติเกี่ยวกับอนุกรมวิธานของสัตว์ ZOOTAXA ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก  โดยมีหัวข้อว่า "Betta mahachaiensis (ปลากัดป่ามหาชัย) ปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ของโลกจากสมุทรสาคร ประเทศไทย"

ผลจากการศึกษาการกระจายพันธุ์ของปลากัดป่าจากกว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศไทยและบางแหล่งของประเทศใกล้เคียง ได้สนับสนุนข้อมูลเดิมที่ว่าปลากัดป่ามหาชัยพบได้เฉพาะในประเทศไทยแห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น นอกจากนี้ผลงานของทีมวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นว่าน่าจะพบปลากัดป่าไทยพันธุ์ใหม่อีกอย่างน้อย 2-3 สายพันธุ์

นักวิจัย คณะวิทย์ มหิดล ค้นพบ “ปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ของโลก”