logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2555

 

การบรรยายพิเศษ เรื่อง "การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย"

เมื่อวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม 2555 เวลา 8.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติงานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย” โดยได้รับเกียรติจากนักวิจัยอาวุโส ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน คือ ศ.เกียรติคุณ มนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานสาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช วช.  ศ.วิชัย ริ้วตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี (PERCH-CIC) และประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล 

โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “นโยบายการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ม.มหิดล” โดยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขอทุนวิจัยจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้งบประมาณ 130 ล้านบาท และได้แนะนำว่าหัวข้อวิจัยที่เสนอขอทุนต้องสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2555-2559) แต่กว้างขวางตามความสนใจของนักวิจัย  โดยมีกำหนดการส่งข้อเสนอโครงการมายังคณะฯ ภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2555 นี้ และจะทราบผลการพิจารณาประมาณ เดือนตุลาคม 2556 ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ได้แจ้งเรื่องการประกาศรับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ปีงบประมาณ 2556 โดยมีงบประมาณ 1,000 ล้านบาท สำหรับการวิจัยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ 11 กลุ่มเรื่อง และงบประมาณ 430 ล้านบาทสำหรับ 9 กลุ่มเรื่องเร่งด่วน โดยมีกำหนดส่งข้อเสนอโครงการวิจัยภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2555 นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเงินทุนอื่นๆ จากต่างประเทศ ที่สำคัญ เช่น Malaria Eradication Scientific Alliance (MESA), OMICS ของ NIAID, NIH (HIV,AIDS, Aging), Grand Challenges Canada เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ มนตรี จุฬาวัฒนทล เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย เพื่อเสนอขอทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน และจาก วช.” ซึ่งได้ฝากแง่คิดว่า หลักสำคัญในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยต้องคำนึงว่าการวิจัยนั้น ทำไปเพื่อความยั่งยืนของชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และต้องคำนึงถึงจตุภาคีการวิจัย (research quartet) ให้ครบทั้ง 4 ด้านคือ ตัวนักวิจัย นโยบายการวิจัย ผู้ให้ทุนวิจัย (funding) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยควรทบทวนระบบการวิจัยให้ดี และเขียนโดยใช้ประสบการณ์ที่ทำ ให้ตรงตามกรอบการวิจัยของแหล่งทุนนั้นๆ

ศ.วิชัย ริ้วตระกูล เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “Grantsmanship and Research Collaboration: Amechanism for the Creation of High Quality Research, Innovation and HRD” ซึ่งการเขียน grant proposal เปรียบเหมือนการปลูกต้นไม้ คือ ต้องมีความรู้ และต้องประคบประหงม ใส่ใจ นอกจากนี้ นักวิจัยต้องรู้จัก fundamental research areas ของตัวเอง โดยเขียนแสดงจุดเด่นของตัวเอง ตรวจเช็คตัวสะกดให้ถูกต้อง ส่งให้คนอื่นๆ ช่วยอ่าน ว่าอ่านรู้เรื่องหรือไม่ และสิ่งสำคัญ คือ การส่ง proposal ควรส่งให้ทันตามกำหนด และยังได้แนะนำวิธีการเลือกผู้ร่วมงานวิจัยที่ดีอีกด้วย ซึ่งผู้ร่วมงานวิจัยที่ดีจะต้องสามารถทำอะไรที่เราไม่สามารถทำได้ มีการทำงานเป็นทีม ผิดพลาดต้องไม่โทษกัน นอกจากนี้ ศ.วิชัย ริ้วตระกูล ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “การเขียนขอทุน ต้องรู้จักตัวท่าน รู้จักผู้ร่วมงาน รู้จัก area ท่าน ถ้า reviewer หิน แต่ถ้าเรามีดี ก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่เราต้องทำให้ดีที่สุด”

ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากอาจารย์ ทั้งรุ่นใหม่ รุ่นกลาง และอาวุโส รวมทั้ง นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก เป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 70 คน