logo

ภาพข่าวกิจกรรมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพข่าวและกิจกรรมประจำปี 2554

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน
ในพิธีเปิดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8

:: พระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ::
:: คำกราบบังคมทูลรายงาน ของ ศาสตราจารย์ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ::
:: กำหนดการ พิธีเปิดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8 ::

Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

เมื่อวันพุธที่ 27 เมษายน 2554 เวลา 15.00 น. ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 8 ซึ่งมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) เป็นเจ้าภาพ กำหนดจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน - ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

เมื่อรถยนต์พระที่นั่งถึง อาคาหอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.คลินิก น.พ.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร อธิการบดี  ผศ.สุนันทา  วิบูลย์จันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา ศ.ศกรณ์  มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ รศ.ประหยัด  โภคฐิติยุกต์ ประธานการจัดงาน  ศ.กิตติคุณ น.พ.จรัส  สุวรรณเวลา  ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๗ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑๑ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๗  และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้ารับเสด็จ โดยมี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม ศ. พ.ญ.นภาธร  บานชื่น รองอธิการบดี ศ. มาลียา  เครือตราชู ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายข้อสอบชีววิทยาโอลิมปิกและคณบดีวิทยาลัยนานาชาติและ นางสาวจินตนา แสงศักดิ์ศรี ผู้แทนนักศึกษาฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย จากนั้นเสด็จเข้าสู่ภายในหอแสดงดนตรี  เมื่อประทับพระราชอาสน์แล้ว รศ.เยาวลักษณ์  จิตรามวงศ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร  ศ.ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ  กราบบังคมทูลรายงาน  จากนั้นทรงทอดพระเนตรการเชิญธงของนักเรียนผู้ร่วมแข่งขัน  ผู้แทน คณาจารย์ และกรรมการศูนย์ กล่าวคำปฏิญาณตน โดยมี ดร.ระพี  บุญเปลื้อง เป็นผู้ดำเนินรายการ

จากนั้น ทรงฉายพระรูปร่วมกับผู้บริหาร  มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการ และผู้แทนนักเรียนที่เข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 3 ชุด  ทรงลงพระนามาภิไธยสมุดที่ระลึก และทอดพระเนตรนิทรรศการ ผลงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เรื่อง “ชีววิทยาบูรณาการ” รวม 8 ผลงาน ดังนี้ ผลกระทบของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด หัวหน้าโครงการ: รองศาสตราจารย์ ดร. ปราณีต ดำรงผล  ภาควิชาชีววิทยา ความหลากหลายของสัตว์ขาปล้องที่มีความสำคัญทางการแพทย์  และสัตว์ขาปล้องขนาดเล็กในดิน ในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เขาวังเขมร จังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าโครงการ: ผศ. ดร. อมรา นาคสถิตย์ ภาควิชาชีววิทยา   การศึกษาอนุกรมวิธาน ความหลากหลาย และอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ที่พบในพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืช โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เขาวังเขมร จังหวัดกาญจนบุรี หัวหน้าโครงการ: รองศาสตราจารย์ พวงผกา สุนทรชัยนาคแสง ภาควิชาพฤกษศาสตร์  การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมทุเรียนและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวสวนทุเรียนในประเทศไทย ตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  กรณีศึกษา จังหวัดนนทบุรี หัวหน้าโครงการ: อาจารย์ ดร. ศศิวิมล แสวงผล ภาควิชาพฤกษศาสตร์   “ห้องปฏิบัติการวิจัยบนดอยสูง” มูลนิธิโครงการหลวง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุษณีษ์ พิชกรรม  ภาควิชาพฤกษศาสตร์  การพัฒนาสายพันธุ์กุ้ง หัวหน้าโครงการ:ศาสตราจารย์ ดร. บุญเสริม วิทยชำนาญกุล ภาควิชากายวิภาคศาสตร์  ไบโอดีเซลจากสาหร่าย รองศาสตราจารย์ ดร. ประหยัด โภคฐิติยุกต์  ร่วมด้วย อาจารย์ ดร. เมธา มีแต้ม ภาควิชาชีววิทยา   และว่านชักมดลูก สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทยสู่สากล  โครงการวิจัยและพัฒนาว่านชักมดลูก เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หัวหน้าโครงการ: ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง ภาวิณี ปิยะจตุรวัฒน์ ภาควิชาสรีรวิทยา โดยมีท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ถวายการทอดพระเนตรนิทรรศการ จากนั้น ศ.ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ และ อาจารย์ดร.ศศิวิมล  แสวงผล ร่วมทูลเกล้าฯ ถวายทุเรียน

สำหรับการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เป็นตัวแทนศูนย์ต่างๆ ได้เข้าร่วมแข่งขันทดสอบความสามารถในสาขาวิชาชีววิทยาระดับประเทศ และเพื่อให้การแข่งขันมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้แสดงความสามารถด้านสติปัญญาและทักษะปฏิบัติ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนามาตรฐานการศึกษาชีววิทยาให้อยู่ในระดับเดียวกันทั่วประเทศ และเพื่อให้คณาจารย์จากศูนย์ สอวน. ทุกศูนย์มีประสบการณ์ร่วมกันในการจัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ มีการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมในสาขาวิชาชีววิทยาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป