logo

ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

กลอนและรายละเอียดประกอบ

      

พระมหากรุณาธิคุณยังตราตรึงในความทรงจำ
กษัตริย์นักพัฒนา...พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

แม้พ่อจากลาไกลไปบนฟ้า
งานกษัตริย์นักพัฒนาตราตรึงอยู่
ให้ลูกหลานชาวไทยตรึกตรองดู
สานสืบต่อองค์ความรู้ที่มีมา

พ่อเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย 1
สร้างสรรค์ให้นวัตกรรมใหม่มีถ้วนหน้า
เติมอากาศแก้น้ำเสีย 'กังหันชัยพัฒนา' 2
ลดปัญหาดินเปรี้ยวจัดด้วย 'แกล้งดิน' 3

ส่ง ฝนหลวง 4 แก้น้ำแล้งที่แห้งผาก
ปลูก 'หญ้าแฝก' 5 กันน้ำหลากทำลายทรัพย์สิน
ทำระบบ 'ป่าเปียก' 6 เพิ่มชุ่มชื่นดิน
กันไฟป่าให้หมดสิ้นอย่างยั่งยืน

ขวางธาราลำน้อยปล่อยเพียงพอ
ป่าฟูฟื้น 'ฝายชะลอความชุ่มชื้น' 7
ทางผันน้ำอย่าง 'แก้มลิง' 8 ชะลอน้ำคืน
เมืองไทยฟื้นไม่จมกลืนใต้บาดาล

พลังงานทางเลือกหลากหลายสิ่ง
ทำจากของเหลือทิ้งมีมหาศาล
'แก๊สชีวภาพจากมูลวัว' 9 สวนหลังบ้าน (สวนจิตรลดา)
กลับกลายเป็นพลังงานอย่างแยบยล

พ่อมองไกลใช้เรื่อยไปก็คงหมด
พลังงานหดลดเหลือน้อยทุกแห่งหน
พ่อคิดผลิตแอลกอฮอล์เพื่อทุกคน
ทั้งรถยนต์ เกษตรกรรม งานวิจัย

แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 'เอทานอล' 10
'แก๊สโซฮอล์' 11 ผลิตผลพืชน้อยใหญ่
เติมดีเซล 'ดีโซฮอล์' 12 ของคนไทย
ทดลองใช้ในแทรกเตอร์สวนจิตรลดา

อีก 'ไบโอดีเซล' 13 ปาล์มน้ำมัน
ได้เหรียญทองถ้วยรางวัลทรงคุณค่า
น้ำมันเหลือตามครัวเรือนด้อยราคา
แปรเปลี่ยนมา 'ไบโอดีเซลสำหรับชุมชน' 14

'ชั่งหัวมัน' 15 รวมพืชพันธุ์เศรษฐกิจ
ตัวอย่างคิดบริหารไม่ขัดสน
บูรณาการทรัพยากรดีไม่มีจน
ต้นกลางปลายสายชลคนอยู่ดี

พ่อทรงตั้ง 'สถานีวิทยุ อ.ส.' 16
ไว้ติดต่อสื่อสัมพันธ์ส่งสุขี
ช่วยปัดเป่ายรมเดือดร้อนทุกข์ภัยมี
'VR009' 17 นี้อยู่คู่ไทย

'ทฤษฎีใหม่' 18 จัดสรรดินเพื่อถิ่นฐาน
หนึ่งสัตว์บ้านสามสามสามน้ำนาไร่
บริหารดีจัดแบ่งที่เล็กน้อยใหญ่
มีน้ำใช้เลี้ยงชีพชอบตลอดเวลา

'เศรษฐกิจพอเพียง' 19 อยู่เพียงพอ
ทฤษฎีพ่อพึ่งตนเองรู้รักษา
พอประมาณ ใช้เหตุผล เป็นปรัชญา
อีกคุณธรรมนำชีวาพาสมดุล

พ่ออุทิศทั้งชีวิตเพื่อเป็นครู
ทำแบบอย่างให้ลูกดูอยู่เกื้อหนุน
เกินบรรยายลูกระลึกสำนึกคุณ
ช่างเป็นบุญเกิดบนผืนแผ่นดินไทย

ลูกจะเดินตามรอยสองเท้าพ่อ
ทำหน้าที่ไม่รีรอทั้งเล็กใหญ่
ปิดทองหลังพระจนงดงามล้ำวิไล
เพียรพยายามเรียนรู้ไปใช้ปัญญา

นำความรู้วิทยาศาสตร์มาส่งเสริม
อีกเพิ่มเติมเทคโนโลยีมีคุณค่า
ให้สมกับมีกษัตริย์นักพัฒนา
พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

ข้าพระพุทธเจ้า ดร.ณิชยา เอกธาราวงศ์ และศูนย์วิจัย พัฒนา และฝึกอบรมเทคโนโลยีชีวภาพของแมลงระดับภูมิภาค (RCIB) ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


รายละเอียดประกอบ

รวบรวม และเรียบเรียงโดย น.ส.สิริวัลย์ อิสสาสะวิน นักศึกษาปริญญาเอก ศูนย์วิจัย พัฒนา และฝึกอบรมเทคโนโลยีชีวภาพของแมลงระดับภูมิภาค (RCIB) ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

1 พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

เมื่อ พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบถวายการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543 พร้อมทั้งกําหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงนําความรู้ทางสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกสาขาวิชามาใช้ในการพัฒนาทุกแขนง ทุก ๆ โครงการที่มีพระราชดําริและประทานให้แก่ประชาชนล้วนมีวิธีดําเนินการได้ง่าย ไม่ยุ่งยากซํ้าซ้อน มีความสอดคล้องกับระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติและสภาพสังคมของชุมชนนั้น ๆ ไม่ทรงปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่จากต่างประเทศ แต่ทรงเน้นว่าจะต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาปรับปรุงใช้ได้ดีพอ เหมาะกับสภาพและฐานะของประเทศ โดยเน้นที่ประสิทธิภาพ ประหยัดและการทุ่มแรงงาน ในการที่ทรงนําเทคโนโลยีความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ให้มีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้อันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและนานาประเทศทั่วโลก

2 กังหันชัยพัฒนา คือเครื่องกลเติมอากาศแบบทุ่นลอย เพื่อแก้ไขมลภาวะน้ำเน่าเสีย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการจัดสร้างร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งสามารถผลิตได้เองในประเทศ ตามรูปแบบ “ไทยทำไทยใช้” และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบัน “กังหันชัยพัฒนา” ได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 และถือว่าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” นับแต่นั้นเป็นต้นมา

3 แกล้งดิน คือวิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ทางภาคใต้ซึ่งเกิดจากมีสารประกอบกํามะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS2) อยู่เป็นอันมาก โดยการทําให้ดินแห้งและเปี ยกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินซงึ่ จะไปกระตนุ้ ให้สารไพไรท์ทําปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกํามะถันออกมาทําให้มีกรดจัดมากขึ้น จนถึงที่สุด จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่างๆ เช่น โดยการควบคุมระบบนํ้าใต้ดินเพื ่อป้องกันการเกิดกรดกํามะถัน การใช้วัสดุปูนผสมประมาณ 1-4 ตันต่อไร่ การใช้นํ้าชะล้างจนถึงการเลือกใช้พืชที่จะเพาะปลูกในบริเวณนั้น ช่วยให้เกษตรกรได้มีที่ดินที่สามารถใช้เพาะปลูกได้อีกครั้ง

4 ฝนหลวง คือการทำฝนเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งหรือการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ด้วยพระเมตตาธรรม พระวิริยะอุตสาหะ พระปรีชาสามารถ และพระอัจฉริภาพนับเป็นเวลาเกือบ 30 ปี เพื่อทำการทดลองปฏิบัติการฝนหลวง ในที่สุดสามารถทำให้กำหนดบังคับฝนให้ตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายได้สำเร็จ กลายเป็นหลักแนวทางให้นักวิชาการฝนหลวงรุ่นปัจจุบัน ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างมีระเบียบและเป็นระบบวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง

5 หญ้าแฝด เพื่อการอุนรักษ์และปรับปรุงบำรุงดิน เนื่องจากระบบรากของหญ้าแฝดที่แผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นเหมือนกำแพง จึงช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านหน้าดิน ช่วยเก็บความชุ่มชื่นของดินไว้และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รวมทั้งป้องกันสารพิษปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ สมาคมควบคุมการกัดเซาะผิวดินนานาชาติ (International Erosion Control Association : IECA) มีมติถวายรางวัล The International Erosion Control Association's International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝดมาใช้เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536

6 ภูเขาป่าหรือป่าเปียก คือระบบเพิ่มความชุ่มชื่นฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่า ป่าเปียกสามารถสร้างได้หลายวิธีตามสภาพความเหมาะสม เช่น สร้างระบบส่งนํ้าด้วยวิธีสูบน้ำขึ้น ไปพักในบ่อพักน้ำบนภูเขา แล้วทำระบบกระจายน้ำช่วยการปลูกป่าแบบกึ่งถาวร คือประมาณ 3-4 ปี เมื่อไม้โตพอสมควรก็จะมีความชุ่มชื้นและจะช่วยดูดความชื้นจากธรรมชาติด้วย จากนั้นจึงย้ายระบบส่งน้ำดังกล่าวไปช่วยพื้นที่ใหม่ต่อไป อีกวิธีหนึ่งคือการปลูกต้นกล้วยซึ่งสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชชนิดอื่น ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า กว้าง 2 เมตร เพื่อเป็นแนวปะทะกันไฟป่า เป็นต้น

7 ฝายแม้ว คือโครงการฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ โดยการสร้างฝายเล็กๆ แบบไม่ถาวร ให้สอดคล้องกไปกับสภาพธรรมชาติ โดยการใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) มีอยู่ 2 ประเภทคือ ฝายต้นน้ำลำธารสำหรับกักกระแสน้ำไว้ให้ไหลช้าลง และสามารถซึมลงใต้ผิวดินเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในบริเวณนั้น และฝายดักตะกอนดินและทรายมิให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่าง ฝายทั้ง 2 ประเภทสามารถสร้างความชุ่มชื้นและชะลอความชุ่มชื้นและระบบวงน้ำที่อำนวยประโยชน์แก่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่ง

8 แก้มลิง คือโครงการพระราชดำริตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วม โดยจัดสรรพื้นที่ที่ใช้ระบายน้ำและหน่วงน้ำ มีแนวคิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ จากนั้นจะค่อยๆ นําออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง วิธีการของโครงการแก้มลิงคือน้ำจากพื้นที่ตอนบนจะถูกพักไว้ที่บ่อเก็บนํ้าขนาดใหญ่บริเวณชายทะเลคือ แก้มลิง เมื่อระดับน้ำทะเลต่ำกว่าระดับน้ำในคลองน้ำจากแก้มลิงจะถูกระบายสู่ทะเลผ่านประตูระบายน้ำ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำย้อนกลับ

พลังงานชีวภาพ ด้วยพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันกว้างไกลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาพลังงานอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศนานัปการ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพานำเข้าเชื้อเพลิง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ เช่น

9 แก๊สชีวภาพ ผลิตจากเศษวัสดุจากการแปรรูปผลผลิตการเกษตร เศษพืชและมูลสัตว์มาหมักในสภาพไร้อากาศ พลัง งานที่ได้ถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนแก่ระบบการผลิตโรงงานแปรรูปผลผลิต ทางการเกษตรภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นการสร้างประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้และได้พลังงานทดแทนแบบยั่งยืน

11 แก๊สโซฮอล์ คือการนำน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับ 10 เอทานอล ทำให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกลงในภาวะที่น้ำมันขาดแคลน โดยเอทานอลที่ใช้นั้นแปรรูปมาจากอ้อย ในภาวะราคาอ้อยตกต่ำเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยให้มีรายได้ ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตเอทานอลอย่างต่อเนื่องจนมีต้นทุนการผลิตต่ำลง และเอทานอลถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิต 12 ดีโซฮอล์ สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลซึ่งยังอยู่ในระหว่างการทดลองยังไม่ได้นำออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์

13 ไบโอดีเซล คือเชื้อเพลิงดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงดีเซลที่ผลิตจากปิโตรเลียม เช่น โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้จดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย และทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเหรียญทองในงาน “Brussels Eureka 2001” ซึ่งเป็นนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติประจำปี 2544 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีการสนับสนุนให้เกิดการทำ 14 ไบโอดีเซลชุมชนขึ้น โดยสำรวจและศึกษาก่อนว่าพื้นที่ดังกล่าวเหมาะจะทำไบโอดีเซลจากอะไร หรืออาจเลือกใช้น้ำมันพืชใช้แล้วซึ่งใช้ได้กับทุกพื้นที่ เพื่อใช้เติมเครื่องยนต์ทางการเกษตร

15 ชั่งหัวมัน คือ โครงการทดลองด้านการเกษตร จังหวัดเพชรบุรี เกิดขึ้นจากพระราชดำรัส ให้มีการจัดหาและพัฒ นาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนำมาถวาย ต่อมาได้มีการพัฒนาพื้นที่บริเวณต่างๆ เพื่อใช้เป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจ การทดลองทำฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และมีการใชัพลังงานจากทุ่งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโครงการอีกด้วย

16 สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นสถานีวิทยุที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงตั้ง ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2495 ที่พระราชวังดุสิต ชื่อสถานีวิทยุทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 จึงย้ายเข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ พระองค์ทรงแสดงพระราชอัจฉริยภาพทางด้านการสื่อสารในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด จากเหตุวาตภัยที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีนักวิทยุสมัครเล่นรวมกลุ่มกัน ออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน และติดต่อเข้ามายังศูนย์สายลมเพื่อเตรียมการ ขณะนั้นพระองค์ท่านติดต่อเข้ามาโดยใช้รหัสนักวิทยุสมัครเล่นว่า 17 VR009 เพื่อแนะนำวิธีที่ถูกต้องในการออกไปช่วยเหลือประชาชน

18 ทฤษฎีใหม่ คือแนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน ในพื้นที่ทำกินขนาดเล็กประมาณ 15 ไร่ โดยการทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีรายได้ไว้ใช้จ่ายและมีอาหารไว้บริโภคตลอดปี โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนในอัตราส่วน 30:30:30:10 คือ ส่วนที่หนึ่ง 30% ขุดสระเก็บกักน้ำสำหรับใช้เสริมการเพาะปลูกในฤดูแล้ง และเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนที่สอง 30% ใช้ปลูกข้าวทำนา ส่วนที่สาม 30% ใช้ปลูกไม้ผล พืชผักสมุนไพร ส่วนที่สี่ 10% สำหรับที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือน เป็นต้น

19 เศรษฐกิจพอเพียง (3 ห่วง 2 เงื่อนไข) ซึ่งประกอบด้วยความ "พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน" บนเงื่อนไข "ความรู้" และ "คุณธรรม" เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผลและการสร้างภูมคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำต่าง ๆ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิต และการบริโภคที่พอประมาณ ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การเตรียมตัว ให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องอาศัยความรู้ และคุณธรรม เป็นเงื่อนไขพื้นฐาน กล่าวคือ เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง ในการดำเนินชีวิต และการประกอบการงาน ส่วนเงอื่นไขคุณธรรม คือ การยึดถือคุณธรรมต่าง ๆ อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมและการแบ่งปัน ฯลฯ ตลอดเวลาที่ประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติ ว่า เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง