logo

กองทุนศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ. ดร.สตางค์ มงคลสุข

ตำแหน่ง "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ.ดร. สตางค์ มงคลสุข"

ศ.ดร. สตางค์  มงคลสุข

เป็นที่ทราบกันดีว่า วงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยยังมีความอ่อนแออยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของกระบวนการเรียนรู้ วิชาด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ความสามารถในการถ่ายทอดวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สู่ภาคการผลิตและการพาณิชย์ ตลอดจนการทำให้เด็กนักเรียนและสังคมไทยทั่วไป เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ โดยที่เหตุผลของความอ่อนแอนี้เกิดมาจากหลายสาเหตุ อาทิ งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่เพียงพอ สังคมโดยทั่วไปยังมี ความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์อยู่ค่อนข้างมาก รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไทย ของกลุ่มนักลงทุน อย่างไรก็ดีมีเหตุผลที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง ของสาเหตุความอ่อนแอทางด้านวิทยาศาสตร์นี้ คือการขาดผู้นำ และผู้ประสบความสำเร็จ ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นตัวอย่างให้สังคมไทยโดยส่วนรวมได้ประจักษ์

ตำแหน่ง "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข" (Professor Dr.Stang Mongkolsuk's Chair Professor) เป็นตำแหน่งนักวิจัยเกียรติยศ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อเชิญชวนให้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ เข้ามารับตำแหน่ง เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนา วงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยปฏิบัติงาน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่อง โดยจะได้รับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวิจัยทั้งหมด ประมาณปีละ 2.5 ล้านบาท จากดอกผลของ กองทุนศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ.ดร. สตางค์ มงคลสุข (Endowment Fund for Professor Dr.Stang Mongkolsuk's Chair Professor)

การสรรหาผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติดังกล่าว จะดำเนินการโดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะฯ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และอำนวยคุณประโยชน์สูงสุด ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ

ประวัติศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข

ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เป็นคณบดีท่านแรก ผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นปรมาจารย์ด้านอินทรีย์เคมี วัสดุธรรมชาติของไทย โดยเฉพาะการวิจัยด้านสมุนไพร ในยุคบุกเบิกของประเทศ นอกจากชื่อเสียงเกี่ยวกับผลงานวิจัยโดยตรงของท่าน ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติจำนวนมากแล้ว ท่านยังได้สร้าง "ตำนาน" การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สายวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้แก่ประเทศ โดยได้จัดหาทุน ส่งให้นักศึกษาที่เรียนดีได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ในสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เจรจาหางบประมาณสนับสนุน จากมูลนิธิ/องค์กร/รัฐบาลต่างประเทศ และรัฐบาลไทย เพื่อจัดสร้างอาคารเรียน อาคารวิจัย เครื่องมือวิจัยต่างๆ อันเป็นการวางรากฐานทางวิชาการ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัย ตลอดจนบรรยากาศวิชาการ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดผลงานวิจัยมากมาย ทั้งในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งนอกจากท่านจะริเริ่มดำเนินการก่อตั้งแล้ว ยังดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีด้วย หน่วยงานที่ท่านริเริ่มและช่วยเหลือดำเนินการก่อตั้งเหล่านี้ ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตทั้งผลงานวิจัย และนักวิจัยให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข จึงเป็นผู้มีคุณูปการสูงยิ่ง แก่วงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ

กองทุน"ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ.ดร. สตางค์ มงคลสุข"
Endowment Fund for Professor Dr.Stang Mongkolsuk's Chair Professor

กองทุนนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย และค่าดำเนินการวิจัยสำหรับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข" (Professor Dr.Stang Mongkolsuk's Chair Professor) ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำริจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ และเพื่อแก้ไขปัญหาความอ่อนแอ ทางวิทยาศาสตร์ ของประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการขาดความสนใจของสังคมไทยโดยทั่วไป ความไม่เด่นชัดของการพัฒนาอาชีพนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผลให้นักเรียน ที่เรียนดีและสนใจวิทยาศาสตร์ ขาดความมั่นใจในอาชีพนักวิทยาศาสตร์ หรือการที่ภาคเอกชนผู้ผลิต ยังไม่มีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ไทย ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก การขาดผู้นำทางวิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นแบบอย่างให้สังคมไทยได้เห็นประจักษ์ การจัดให้มีตำแหน่ง ศาสตราจารย์เกียรติยศ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข จะช่วย กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวขึ้น ในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ เพราะการมีบุคคลที่มีความสามารถระดับโลก เช่น ผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล มาทำงานวิจัยในประเทศไทย จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ของไทย ได้เรียนรู้แบบอย่างการทำงาน ได้โอกาสในการปรึกษางานวิจัย ได้แนวคิดและประสบการณ์อันทรงคุณค่า ในขณะเดียวกันสังคมไทยและเด็กไทย จะได้เห็นภาพลักษณ์และวิถีชีวิตของนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพที่ชัดเจน นอกจากนี้ การที่นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ร่วมงานวิจัย กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และร่วมกันผลิตผลงานวิจัย ขึ้นในประเทศ จะทำให้นักลงทุนและภาคเอกชนไทย เกิดควมเชื่อมั่นในงานวิจัย และนักวิจัย จนนำไปสู่การพัฒนาด้าน R&D ในภาคอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี การได้มาซึ่งผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งที่สำคัญและทรงเกียรติดังกล่าว จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการวิจัย ซึ่งการจัดสรรงบประมาณ จากรัฐบาลเพื่อการนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง ในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการได้มาซึ่งงบประมาณ จากการบริจาค ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น