logo

กองทุนศาสตราจารย์เกียรติยศ ประสพ รัตนากร

ตำแหน่ง "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ประสพ รัตนากร"
Prasop Ratanakorn's CHAIR PROFESSOR

ตำแหน่ง"ศาสตราจารย์เกียรติยศ ประสพ รัตนากร" (Prasop Ratanakorn's CHAIR PROFESSOR) เป็นตำแหน่งนักวิจัยเกียรติยศที่ได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อเชิญชวนให้นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ในสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ เข้ามารับตำแหน่งเพื่อดำเนินการวิจัย สร้างกลุ่มวิจัยและพัฒนาวงการวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ให้เจริญรุดหน้าในระดับสากล อันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ ตามแนวปรัชญา "พัฒนาสมอง พัฒนาคน พัฒนาชาติ" ของศาสตราจารย์ นพ. ประสพ รัตนากร ปรมาจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะปฏิบัติงาน ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่อง โดยจะได้รับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวิจัยทั้งหมด ประมาณปีละ 2.5 ล้านบาท จากดอกผลของ กองทุนศาสตราจารย์เกียรติยศ ประสพ รัตนากร (Endowment Fund for Prasop Ratanakorn's CHAIR PROFESSOR)

การสรรหาผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ จะดำเนินการโดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก ศาสตราจารย์เกียรติยศประสพ รัตนากร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประจำคณะฯ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและอำนวยคุณประโยชน์สูงสุด ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ

ประวัติ ศาสตราจารย์ นพ.ประสพ รัตนากร

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ปริญญาโททางจิตเวชศาสตร์และประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยเพ็นน์ซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาเพิ่มเติมด้านจิตวิทยา ประสาทวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในต่างประเทศ ได้รับประกาศนียบัตรแพทย์เฉพาะทางประสาทวิทยาและจิตวิทยาเป็นคนแรกของประเทศ และได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน ท่านเป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งโรงพยาบาลประสาท ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ และทำการเผยแพร่ความรู้ด้านจิตวิทยาสู่สาธารณชนด้วยรายการ "ใจเขาใจเรา" ทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ต่อเนื่องกันมากกว่า 50 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2493 จนถึงปัจจุบัน เป็นผู้ร่วมบุกเบิกก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และก่อตั้งสมาคมวิชาชีพทางสุขภาพจิต ประสาทวิทยา จิตเวชศาสตร์ และสังคมวิทยา เป็นผู้ริเริ่มงานด้านสุขภาพผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิวิจัยประสาทในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร ได้รับการยกย่องจากทั่วโลก ในผลงานด้านสุขภาพจิต จิตวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย รวมทั้งได้รับการสดุดีจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นนักสุขภาพจิตชุมชนในรอบ 50 ปีด้วย

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร นับเป็นบุคคลพิเศษ ที่มีความรู้ความสามารถรอบด้าน มีผลงานที่ทรงคุณประโยชน์เอนกอนันต์ต่อวงการวิชาการและต่อสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ เป็นผู้หยิบยื่นความสุขทั้งกายและใจให้แก่ผู้อื่นตลอดมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

กองทุน "ศาสตราจารย์เกียรติยศ ประสพ รัตนากร"
Endowment Fund for Prasop Ratanakorn's CHAIR PROFESSOR

กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินการวิจัยสำหรับผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น "ศาสตราจารย์เกียรติยศประสพ รัตนากร" (Prasop Ratanakorn's CHAIR PROFESSOR) ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำริจัดตั้งตำแหน่งดังกล่าวขี้น เพื่อเป็นการยกย่อง ศาสตราจารย์ นพ.ประสพ รัตนากร ปรมาจารย์ทางด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์ของประเทศ และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นว่า ศาสตร์ดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านสุขภาพอนามัย คุณภาพสมอง คุณภาพความคิด และคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถระดับโลกในสาขานี้ เช่น ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขา Neuroscience มาปฏิบัติงานวิจัยในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาที่ต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มของนักวิชาการที่สนใจในสาขานี้ขึ้นอย่างรวดเร็ว จะกระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษาวิทยาศาสตร์ นักศึกษาแพทย์ แพทย์และนักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนทั่วไป มองเห็นความสำคัญของศาสตร์แขนงดังกล่าว และหันหน้ามาศึกษา มาวิจัยและให้การสนับสนุนงานด้านนี้มากขึ้น ในขณะเดียวกันการรวมกลุ่มของนักวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ในประเทศจะทำให้เกิดมวลวิกฤตของการวิจัยในด้านดังกล่าว สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

อย่างไรก็ดีการได้มาซึ่งผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งที่สำคัญและทรงเกียรตินี้ จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการวิจัย ซึ่งการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อการนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งการได้มาซึ่งงบประมาณจากการบริจาค ดังนั้นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้น