logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดบ้านพร้อมสนับสนุน SPACE–F Batch 3

7 กุมภาพันธ์ 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับพันธมิตร Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte, Xpdite ต้อนรับ Startup ผู้เข้าร่วม “SPACE-F Batch 3” หรือ โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รุ่นที่ 3 ณ ชั้น 6 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และระบบออนไลน์ผ่าน Zoom meeting

โดย ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม (Group Director, Global Innovation) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F Batch 3 ก่อนจะมีการแนะนำบทบาทขององค์กรพันธมิตรที่มีส่วนร่วมปั้น FoodTech startup หน้าใหม่สู่วงการอุตสาหกรรมอาหารโลก โดยสนับสนุนและให้คำแนะนำในการสร้างสรรค์ผลงานของ Startup รุ่นก่อน ๆ จนประสบความสำเร็จอย่างใกล้ชิด เริ่มจาก Dr. Chris Aurand, Open Innovation Lead จาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ ผู้แทนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ อาจารย์ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยมหิดล คุณต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และปิดท้ายด้วย Mr. Bart Bellers, CEO จาก Xpdite จากนั้นจึงเป็นการบรรยาย Introduction to Food & Beverage โดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อด้วยการทัวร์ชมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ SPACE-F

และในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ อาจารย์ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำทีม Startup เข้าเยี่ยมชมสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการวิชาการที่สนับสนุนการวิจัย deep tech ภายในคณะวิทยาศาสตร์ ณ หน่วยเครื่องมือกลาง (Central Instrument Facility: CIF) หน่วยงานกลางสำหรับให้บริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นสูงที่มีราคาแพง และมีความต้องการใช้งานมาก รวมถึงงานวิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อการวิจัยโดยมี คุณสิรภพ วงษ์เนียม หัวหน้าหน่วยฯ พร้อมทีมนักวิทยาศาสตร์หน่วยเครื่องมือกลาง นำชมห้องปฏิบัติการและบริการต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery: ECDD) ศูนย์วิจัยซึ่งศึกษากลไกการเกิดโรค และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาตัวยาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาตรฐาน ISO โดยมี อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ ให้การต้อนรับและนำชมห้องปฏิบัติการอย่างอบอุ่น

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/feb65-07