logo

FI@MUSC

 

การจัดตั้งและดำเนินงานเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ส่วนขยาย

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดำเนินงาน“การจัดตั้งและดำเนินงานเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย” ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Hub) ของอาเซียนและของโลกภายในปี 2564 เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของระบบเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมในยุคประเทศไทย 4.0

ระยะเวลาที่ผ่านมา Food Innopolis มีบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศมาลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมในพื้นที่จำนวน 35 บริษัท และมีการเตรียมพื้นที่ “Future Food Lab” เพื่อรองรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการทำกิจกรรมวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม อีกไม่น้อยกว่า 30 บริษัทต่อปี จึงทำให้พื้นที่ที่สามารถให้บริการและให้บริษัทเอกชนเข้ามาจัดตั้งหน่วยงานเพื่อดำเนินการวิจัยพัฒนาเหลือเพียงร้อยละ 30 ของพื้นที่ทั้งหมด ในขณะที่มีจำนวนบริษัทที่อยู่ในระหว่างการตัดสินใจเข้าใช้พื้นที่อีกจำนวนหนึ่ง และพื้นที่บางส่วนยังต้องถูกนำไปจัดสรรรเพื่อการดำเนินการตามภารกิจอื่นของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และที่สำคัญคือทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ณ จังหวัดปทุมธานีนั้นยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนอีกจำนวนมากที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานครฯ และปริมณฑล และในภูมิภาคอื่นของประเทศ

ในระยะต่อไป Food Innopolis มีเป้าหมายที่จะเชิญชวนบริษัทอาหารชั้นนำระดับโลกที่เน้นการวิจัยและพัฒนา และหน่วยงานผู้ให้บริการด้านการวิจัย (contract research organizations) ชั้นนำของโลกเข้ามาให้บริการใน Food Innopolis เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับบริษัทอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของไทยตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่า รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ และประสบการณ์ระดับสูงจากนักวิจัยต่างชาติสู่นักวิจัยชาวไทย ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดบริษัทอาหารจากประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคมาลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงาน Food Innopolis เป็นไปตามเป้าหมายของการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของภาคเอกชนได้อย่างครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและกระจายสู่ส่วนภูมิภาคนั้น มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขยายการดำเนินงานของ Food Innopolis ไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพและความพร้อม ซึ่งจะทำให้ Food Innopolis สนับสนุนบริษัทเอกชนให้ทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่มุ่งหวังอย่างแท้จริง

 

วัตถุประสงค์

  1. ร่วมจัดตั้งและดำเนินการเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก
  2. บูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ หน่วยงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรม ให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศ
  3. ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้ลงทุนทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำไปสู่สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added) มีคุณภาพ มาตรฐาน และตอบโจทย์รสนิยมของผู้บริโภคทั่วโลก
  4. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และลดความเสี่ยงในการลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ให้แก่อุตสาหกรรมอาหารทั่วประเทศ