logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทย์ ม.มหิดล จัด Mahidol Science Innovation & Entrepreneur Day 2023 เปิดโอกาส พร้อมมอบโล่เชิดชูผู้ถือสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ส่งเสริมอาจารย์และนักศึกษา ต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ทรัพย์สินทางปัญญา และเพิ่มโอกาสสู่การเป็นผู้ประกอบการ Startup และ Spin-off จากมหาวิทยาลัย

 

15 พฤศจิกายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานพันธกิจพิเศษ ร่วมกับงานวิจัย จัดกิจกรรม Mahidol Science Innovation & Entrepreneur Day 2023 เพื่อเชิดชูความสำเร็จของอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ที่มีผลงานด้านนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) พร้อมเปิดโอกาสให้อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านวิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น Startup และการ Spin-Off กับ 3 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีส่วนช่วยในการสร้าง Startup Ecosystem ให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยและในระดับประเทศ ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี และ ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT), คุณบุญเลิศ อ่องไพบูลย์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, คุณพงศ์กานต์ พรหมสาส์น ผู้อำนวยการ กลุ่มงาน Thaitrade.com กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP), คุณทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และ คุณรุ่งระวี อิ่มผิว นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP), คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน (NIA), Dr. Chris Aurand, Open Innovation Lead บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด มหาชน, ดร. ทศพล คำแน่น Senior R&D Manager บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด มหาชน (SCGC) พร้อมด้วยคณาจารย์ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษา รวมกว่า 117 คน เข้าร่วมงาน

ภายในงานช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี กล่าวเปิดงานและแสดงความยินดี โดยมอบโล่สิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร ให้แก่อาจารย์และนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรในช่วง พ.ศ. 2563-2566 จำนวน 8 ท่าน จาก 11 ผลงาน และมอบของที่ระลึกให้อาจารย์และนักวิจัยที่ได้รับเลขคำขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร จำนวน 25 ท่าน จาก 52 ผลงาน ในพิธีแสดงความยินดีกับอาจารย์ที่ได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา

โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย ผู้แทนอาจารย์และนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ได้เป็นตัวแทนผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติกล่าวขอบคุณ พร้อมเล่าประสบการณ์การพัฒนาและผลักดันนวัตกรรมเส้นใยสับปะรดจากงานวิจัยให้เกิดขึ้นจริง และต่อยอดสู่ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งช่วยเพิ่มทั้งมูลค่าและโอกาสให้ภาคธุรกิจมองเห็นนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้น และถูกนำไปใช้งานจริง เป็นถ่ายทอดงานวิจัยจากต้นน้ำ ไปสู่กลางน้ำ และปลายน้ำในที่สุด และให้กำลังใจแก่นักวิจัยทุกท่านที่ทุ่มเทพลังกาย พลังใจ และเวลาในการคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาที่สนใจเพื่อให้เกิดประโยชน์สู่สังคม ขอให้มีพลังผลักดันงานให้เกิดความสำเร็จต่อไป

สำหรับในช่วงบ่ายเป็นการบรรยายพิเศษในหัวข้อสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน Innovation & Entrepreneurship ในรั้วมหาวิทยาลัย ในระดับประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) บรรยายพิเศษหัวข้อ ‘Innovation, Startup & Spin-off Strategies at Mahidol University’ คุณทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา บรรยายพิเศษหัวข้อ ‘IP Strategies for Startup & Spin-off’ และ คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บรรยายพิเศษหัวข้อ ‘Startup & Entrepreneur Opportunities in Thailand and Global level’

ต่อด้วยการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Innovation & Entrepreneur Opportunities with Government & Private Sectors” ซึ่งได้รับเกียรติจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องด้าน R&D และ Open Innovation ที่ช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมให้กับประเทศไทย ได้แก่ Dr. Chris Aurand, Open Innovation Lead บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด มหาชน และ ดร. ทศพล คำแน่น Senior Researcher บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด มหาชน (SCGC) พร้อมตัวแทนจากภาครัฐที่เป็นกลไกสำคัญทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ได้แก่ คุณพงศ์กานต์ พรหมสาส์น ผู้อำนวยการ กลุ่มงาน Thaitrade.com กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และ คุณบุญเลิศ อ่องไพบูลย์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านวิจัยและนวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา โอกาสในการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ (Startup) ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ พร้อมพูดถึงแนวทางในการการส่งเสริมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้มีความสามารถในการประกอบธุรกิจและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกลไกที่ควรจะช่วยพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) ภายในประเทศไทยที่จะช่วยส่งเสริมต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ ในงานยังมีนิทรรศการของ Startups ที่ก่อตั้งจากอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มาร่วมแสดงผลงานและนวัตกรรมรวมกว่า 7 บริษัท และหน่วยงานส่งเสริมธุรกิจอีก 1 หน่วยงาน อาทิ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Nose) ตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัลเพื่อควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และตรวจสภาวะสุขภาพ โดย MUI Robotics, Flo wolffia ผลิตภัณฑ์ไข่น้ำ superfood แห่งอนาคต โดย Advanced Greenfarm, สเปรย์ขิง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดกระชายขาว โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD), Circular mRNA เพื่อการพัฒนาวัคซีนและการทดสอบทางการแพทย์ โดย BIOadventure, Anti-aging and skin booster extract โดย AgingSerenity, นวัตกรรมเส้นใยจากสับปะรด เพื่อเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจให้ของเหลือทิ้งทางการเกษตร โดย TEAnity, ชุดตรวจโควิด-19 เทคโนโลยี RT-LAMP เปลี่ยนสี รู้ผลภายใน 30 นาที โดย Zenostic และ Thaitrade.com แพลตฟอร์ม E-Marketplace ครบวงจร โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพานิชย์โดยกิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และระบบนิเวศที่สนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นในมหาวิทยาลัยมหิดลและประเทศไทย ทั้งยังช่วยให้สร้างโอกาสในการหารือต่อยอดความร่วมมือระหว่างอาจารย์และนักศึกษากับภาคธุรกิจในการทำวิจัยร่วม การจ้างวิจัย การทำบริการวิชาการ รวมถึงการให้ทุนนักศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลทางด้านวิทยาศาสตร์ และต่อยอดไปสู่การพัฒนา Open Innovation ร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/nov66-17