logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

iNT ร่วมกับคณะวิทย์ ม.มหิดล ลงนามถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้ว ให้แก่ บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จํากัด เตรียมพร้อมบุกตลาดไทยและยุโรป

29 มีนาคม 2566 สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้ว” ให้แก่ บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จํากัด เตรียมผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุกตลาดในประเทศไทยและประเทศในแถบยุโรป สะท้อนความสำเร็จของการผลักดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อํานวยการ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และกลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ผู้คิดค้นเทคโนโลยีจมูกอิเล็กโทรนิกส์ คุณวันดี วัฒนกฤษฎิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จํากัด ได้ร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ โดยมีผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ รวมถึงบุคลากรหน่วยพันธกิจพิเศษด้านพัฒนาธุรกิจ (BDU) และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมเป็นพยาน ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ได้กล่าวว่า 3 ปัจจัยที่มหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าของโลกให้ความสำคัญ นอกจากการให้ศึกษา และการวิจัยแล้ว การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่สังคมเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง หากจะอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัว ทำหน้าที่เป็น Power House ในการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดสู่สังคม รวมถึงส่งออกเทคโนโลยีสู่สากลได้ ซึ่งในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานและสังคมนั้น ต้องอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเชี่ยวชาญของกลุ่มคนทำงานหลากหลายสาขา ที่ผ่านมา iNT ได้ร่วมสนับสนุนการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ต่อเนื่องมาจนถึงขั้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีในวันนี้ โดยดูแลสัญญาและรักษาผลประโยชน์ให้กับทั้งนักวิจัยและบริษัทร่วมกับ BDU และต่อจากนี้ก็พร้อมจะสนับสนุนบริษัทในการบุกไปตลาดในต่างประเทศในอนาคตด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี ได้กล่าวชื่นชม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ที่มีความคิดริเริ่มนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาผสานกับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และมองเห็นความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม จนในที่สุดก็สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีได้สำเร็จ พร้อมกล่าวว่าความสำเร็จในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือภายในมหาวิทยาลัยมหิดลที่ร่วมกันต่อยอดงานวิจัยเชิงวิชาการสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นส่วนหนึ่งของ ecosystem ซึ่งประกอบไปด้วยคณะวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมทีมวิจัยในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐาน และ iNT ช่วยดูแลบริหารจัดการและเชื่อมต่อกับภาคเอกชนและผู้ใช้ สร้างความต่อเนื่องของ supply chain ขอขอบคุณทีมงานทุกคน และหวังว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นแบบอย่างให้กับอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ของคณะวิทยาศาสตร์ในการทำงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ ได้กล่าวถึงที่มาและแนวทางการพัฒนาผลงานวิจัยว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรางวัลโนเบล ที่ค้นพบวิธีการดมกลิ่นของสุนัขและมนุษย์ ประกอบกับประเทศไทยเป็นครัวโลก เต็มไปด้วยอาหารที่มีกลิ่นรสที่โดดเด่น จึงเห็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยดมกลิ่นให้กับผู้ผลิตอาหาร และพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาจนออกมาเป็นเทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นได้กล่าวขอบคุณทุกคนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในพัฒนาและสนับสนุนเทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย

และคุณวันดี วัฒนกฤษฎิ์ ศิษย์เก่าปริญญาเอก และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จํากัด ได้กล่าวว่า บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จํากัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมี DNA ของมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างเต็มเปี่ยม กว่า 80% ของทีมงานของเราเป็นศิษย์เก่าของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัทดำเนินการเกี่ยวกับประสาทสัมผัสประดิษฐ์ โดยแปลงข้อมูล รูป รส กลิ่น เสียง ให้เป็นข้อมูล โดยเปิดให้บริการตรวจวัดกลิ่นทั้งในห้องปฏิบัติการและในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้ใช้บริการหลายราย เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท เบ ทา โก ร จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ และ iNT ที่ให้การสนับสนุนเสมอมา สำหรับแผนการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เผยว่ามีแผนที่จะอัปเกรดอุปกรณ์เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้ว และบุกตลาดยุโรปในเร็ว ๆ นี้

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/mar66-29