logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาควิชาจุลชีววิทยา และกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรม คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมกับ บริษัทเมอร์ค ประเทศไทย จัดอบรม ‘From Fundamental to Advanced Technologies in Cell Culture Techniques and Applications’ เสริมทักษะเพาะเลี้ยงเซลล์เพื่องานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ

29 มีนาคม ภาควิชาจุลชีววิทยา และกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัทเมอร์ค ประเทศไทย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์สำหรับนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ‘From Fundamental to Advanced Technologies in Cell Culture Techniques and Applications’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Cell Culture Meet Thailand 2023 ณ ห้องปฏิบัติการอเนกประสงค์ MDL1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนอกเหนือจากการอบรมแล้วยังมีการแนะนำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมของเมอร์คและให้ความรู้แก่นักศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์ขั้นพื้นฐานจากคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวเปิดการอบรมโดย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเพาะเลี้ยงเซลล์ ที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์กับหน่วยงานอื่น มุ่งหวังให้ความรู้วิทยาศาสตร์แก่นักศึกษาและผู้ที่สนใจ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิทธิวุฒิ เจริญสุทธิวรากุล ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม

ในการอบรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัมพา สุขสาธุ จากภาควิชาจุลชีววิทยา ได้บรรยายเกี่ยวกับเทคนิคและความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงเซลล์ จากนั้น ดร.ปวิตรา ภู่แก้ว Solution Scientist – Biology Workflow จากบริษัทเมอร์ค ประเทศไทย ได้ให้ความรู้และแนะนำเครื่องมือของบริษัทเมอร์ค ที่จะช่วยให้การทำงานเพาะเลี้ยงเซลล์สะดวกและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น และ Dr. Yoon Choi เจ้าหน้าที่ Technical and Product Marketing, Cell Biology APAC จากบริษัทเมอร์ค ให้ความรู้ในหัวข้อ Dynamic Live-Cell Imaging Cell using CellASIC® ONIX2 Microfluidic Platform

แล้วจึงเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่จาก บริษัทเมอร์คประเทศไทย ร่วมกับ อาจารย์ ดร.รดีกร อัครวงศาพัฒน์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัมพา สุขสาธุ จากภาควิชาจุลชีววิทยา ในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ การเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ การติดตาม cell confluency และการนับและประเมินจำนวนเซลล์ โดยเปรียบเทียบทั้งวิธีมาตรฐานและการใช้เครื่องมือของบริษัทเมอร์ค โดยได้รับความสนใจจากนักศึกษา ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มากกว่า 30 คน

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/mar66-29-2