logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาควิชาพฤกษศาสตร์ และเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดนิทรรศการ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” ครั้งที่ 4

7 มิถุนายน 2565 ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โครงการ อพ.สธ. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครือข่ายวิทย์สานศิลป์ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์ ครั้งที่ 4 Botanical Art Thailand 2022” สร้างความเข้าใจและทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ผ่านการชื่นชมความสวยงามของภาพวาดพฤกษศาสตร์ สนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีการก่อตั้งภาควิชาพฤกษศาสตร์ และ 23 ปี การก่อตั้งเครือข่ายวิทย์สานศิลป์

โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ดร.วีระชัย ณ นคร นายกสมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ คุณพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) อาจารย์พันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก ศิลปินอาวุโส และ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานร่วมในพิธี และกล่าวเปิดงาน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ และประธานจัดนิทรรศการ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” ครั้งที่ 4 กล่าวรายงาน จากนั้นประธานร่วมทั้ง 4 ท่าน ตัดริบบิ้นเปิดงานนิทรรศการฯ อย่างเป็นทางการบริเวณชั้น 5 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art & Culture Centre – BACC) ก่อนจะเดินชมภาพวาดพฤกษศาสตร์ในนิทรรศการ ณ ผนังโค้งชั้น 3-5 พร้อมกับศิลปิน และแขกผู้มีเกียรติตามอัธยาศัย

เครือข่ายวิทย์สานศิลป์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ณ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเริ่มจากโครงการอบรมให้ความรู้เรื่องการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ ให้แก่เยาวชน นักวิจัย และประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจในวิธีการถ่ายทอดความสวยงามของธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเพื่อใช้ประกอบในห้องเรียน บทความวิจัย เป็นงานอดิเรก และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้คนไทยมีผลงานภาพวาดเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2561 – 2563 ได้ขยายผลโครงการโดยจัดนิทรรศการแสดงภาพวาดพฤกษศาสตร์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์เต็มรูปแบบครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร ในชื่อว่า “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” มีภาพวาดพฤกษศาสตร์พืชพื้นเมืองไทยร่วมจัดแสดงจำนวนมาก ใช้พื้นที่จัดงานบริเวณผนังโค้งถึง 3 ชั้น รวมผลงานจากนักวาดทั่วประเทศ

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/jun65-07