logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานนิทรรศการ SciEx2022 เปิดโอกาสนักศึกษา ป.ตรี โชว์ศักยภาพและพัฒนาความสามารถเชิงวิชาการในระดับสากล

27 พฤษภาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ (Science Project Exhibition) ครั้งที่ 23 หรือ SciEx2022 เสริมสร้างบรรยากาศวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้นำโชว์ศักยภาพ ฝึกทักษะการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานวิจัยกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างสาขาวิชาและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อันเป็นการบ่มเพาะและพัฒนาความสามารถเชิงวิชาการในระดับสากล โดยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ทุกหลักสูตรในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ร่วมนำเสนอผลงานออนไลน์กว่า 192 โครงงาน มีผู้ลงทะเบียนและเข้ารับชมการบรรยายรวมกว่า 665 คน ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

งานนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 23 ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมพิธีเปิดและกล่าวอวยพรให้กับน้อง ๆ นักศึกษาให้ประสบความสำเร็จในการเรียน การทำงาน ขอให้เป็นตัวอย่างที่ดีของรุ่นน้อง เข้าใจวิทยาศาสตร์และถ่ายทอดให้เด็กรุ่นใหม่เรียนวิทยาศาสตร์ด้วยความเข้าใจ มีทักษะที่จำเป็น และสามารถนำไปพัฒนาประเทศต่อไปได้ และหวังว่าทุกคนจะมีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะวิทยาศาสตร์ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการลงทุนให้ประเทศไทยดีขึ้นในอนาคต พร้อมกันนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี ประธานในพิธี ได้กล่าวเปิดงาน และชื่นชมถึงความทุ่มเทกับการศึกษาวิจัยของนักศึกษาทุกคนและฝากข้อคิดว่าโลกนั้นขาดวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ขอให้มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานวิจัยตามหลักพละ 5 คือ ศรัทธาพละ (ความเชื่อ), วิริยะพละ (ความเพียร), สติพละ (ความระลึกได้), สมาธิพละ (ความตั้งใจมั่น), ปัญญาพละ (ความรอบรู้) ต่อไป จากนั้นจึงเข้าสู่การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Can AI really see now?” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ จากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) มาร่วมแบ่งปันเกี่ยวกับโจทย์การศึกษาและพัฒนาศักยภาพการมองเห็นของปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะสร้างผลกระทบไปทั่วโลก แล้วจึงเริ่มการนำเสนอผลงานวิจัยคุณภาพของนักศึกษาในสาขาต่าง ๆ โดยมี อาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพาลัคน์ กฤตยาเกียรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงเช้า และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐวี เนียมศิริ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ จอห์นส์ แสงวิไล เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงบ่าย

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/may65-27_01