เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 งานวิจัย ร่วมกับกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ จัดกิจกรรม Mahidol Science Research Forum ในหัวข้อ “Low-Cost Intelligent Sensor Interfaces for Food, Healthcare and Agriculture” โดยได้รับเกียรติจาก Professor Firat Güder จากภาควิชาวิศวกรรมชีวภาพ มหาวิทยาลัยอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) เป็นวิทยากรบรรยาย และได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ กล่าวเปิดงาน โดยมี อาจารย์ ดร.ฒนันท์ วาริทนันท์ กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ บุคคลภายนอกจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 คน
Professor Firat Güder ได้บรรยายถึงเรื่องการพัฒนาเครื่องตรวจวัด (เซนเซอร์) ราคาถูกบนกระดาษเพื่อการใช้งานในด้านอุตสาหกรรมอาหาร ด้านการเกษตร และการรักษาพยาบาล และแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดและวิธีการสร้างบริษัท startup จากองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานวิจัย โดยได้กล่าวถึงสาเหตุและความจำเป็นในการทำเครื่องตรวจวัดคุณภาพอาหารราคาถูกที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารว่า เนื่องจากการกำหนดวันหมดอายุของอาหารตามมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหาร พบว่ามีอาหารที่ไปถึงมือผู้บริโภคจริงทั่วโลกโดยเฉลี่ยคิดเป็นเพียง 2 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้เท่านั้น และมีอาหารที่ยังอยู่ในสภาพที่สามารถบริโภคได้ถูกทิ้งไปโดยไม่จำเป็น เพราะเลยกำหนดวันหมดอายุ โดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอาหารว่าสามารถบริโภคได้หรือไม่ ใช้หลักการความต้านทานไฟฟ้าที่ไหลผ่านขั้วไฟฟ้าที่พิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษ ซึ่งผู้บรรยายเองได้ข้อมูลมาจากงานตีพิมพ์ก่อนหน้าที่ชี้ให้เห็นว่า กระดาษมีความชื้นอยู่ในเนื้อกระดาษเสมอ “paper is always wet” จึงนำมาใช้ต่อยอดสร้างเป็นชิ้นงานนี้ขึ้น
นอกจากนี้ Professor Firat Güder ได้กล่าวถึงการประยุกต์ใช้เครื่องตรวจวัดดังกล่าวในด้านการเกษตร เพื่อการวางแผนการใส่ปุ๋ยและการควบคุมปริมาณไนโตรเจนในดิน ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นประยุกต์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างขึ้น ทำให้สามารถตรวจวัด ทำนาย และวางแผนควบคุมไนโตรเจนในดินเพื่อการเกษตรได้อย่างแม่นยำ
ในส่วนสุดท้ายของการบรรยายเป็นการแสดงความสามารถและการใช้งาน e-chem micro-qPCR ที่ได้ผลิตขึ้นเองสำหรับการตรวจผลทางการแพทย์ สรุปได้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์จริงในอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ และวิธีการสร้างบริษัท startup จากองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานวิจัย อีกทั้งส่งผลให้นักวิจัยและนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ และบุคคลภายนอกได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญ