logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทย์ ม.มหิดล จัดงานนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 24 เปิดโอกาสนักศึกษา ป.ตรี แสดงศักยภาพด้านวิชาการ พัฒนาความสามารถการสื่อสารงานวิจัยในระดับสากล

26 พฤษภาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 24 (The 24th Science Project Exhibition) หรือ SciEx2023 ทาง Zoom Meeting เปิดโอกาสให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีได้แสดงศักยภาพของตนเองผ่านผลงานวิจัย ฝึกทักษะการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม รวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานวิจัยกับเพื่อนนักศึกษาจากต่างสาขาวิชาและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ อันเป็นการบ่มเพาะและพัฒนาความสามารถเชิงวิชาการในระดับสากล ส่งเสริมบรรยากาศด้านวิชาการในมหาวิทยาลัย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปีนี้มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ทุกหลักสูตรในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ร่วมนำเสนอผลงานออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษกว่า 153 โครงงาน ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ Plenary Talk Short Talk และ Poster Presentation และยังมีการบรรยายพิเศษ Special Lecture: Redefining your scientific career path อีกด้วย โดยกิจกรรมครั้งนี้มีผู้ลงทะเบียนร่วมงานกว่า 526 คน

เปิดงานด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับผู้นำเสนอผลงานว่า ขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ นักศึกษาทุกคน กับความสำเร็จในเบื้องต้น อย่าลืมว่าความสำเร็จมาพร้อมกับความลำบาก กว่าจะมาถึงวันนี้ระหว่างทางมีน้ำตา หยาดเหงื่อ มีความหวัง มีความฝันมากมาย ซึ่งทำให้เราเติบโตขึ้น ขอให้วันนี้ทุกคนทำให้เต็มที่ ทำให้วันนี้เป็นวันที่เราภาคภูมิใจเป็น Life time memory และประสบการณ์ที่ดีเมื่อหวนนึกถึง การเรียนรู้เป็นเรื่องของการเดินทาง Journey of Life ขออวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จ พร้อมฝากไว้ว่าสังคมที่ดีต้องมีวิทยาศาสตร์ กว่า 200 กว่าปีที่ผ่านมาวิทยาศาสตร์ช่วยให้ชีวิตของเราดีขึ้น มีนวัตกรรมที่ก้าวหน้า อาจพูดได้ว่า No Science, No Life และ Know Science, Know Life ในอนาคตอยากให้ทุกคนมาช่วยกันขับเคลื่อนสังคม เป็นสายลมแห่งความหวัง ช่วยกันทำให้วิทยาศาสตร์ให้เป็นความหวังของสังคม ขณะนี้กิจกรรม Science Project Exhibition กำลังจะเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ผมเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะส่งผลดีกับวงการศึกษา และสร้างแรงบันดาลใจที่ดี ขอขอบคุณคณะทำงานที่ทำให้กิจกรรมดี ๆ เกิดขึ้น และหวังว่าจะมีการจัดกิจกรรมดี ๆ แบบนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

จากนั้นจึงเป็นการบรรยาย Special Lecture: Redefining your scientific career path ซึ่งได้รับเกียรติจาก โดย ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สตาร์ทอัพที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยจากยุคดิจิทัลเข้าสู่ยุคควอนตัม มาเล่าถึงเส้นทางการเติบโตในสายงาน และประสบการณ์ทำงานที่นำเอาความรู้ทางด้านควอนตัมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพขั้นสูงในการทำงานรวมถึงแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับภาคเอกชน เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นถึงโอกาสการประกอบอาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์ในอนาคต โดยผู้ที่สนใจร่วมงานกันสามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ www.qtft.org

ต่อด้วยการนำเสนอผลงานวิจัยสุดสร้างสรรค์โดยนักศึกษาในสาขาต่าง ๆ โดยมี อาจารย์ ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพาลัคน์ กฤตยาเกียรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงเช้า และ อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัลยา เกตุวงศา เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงบ่าย

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/may66-26