logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “รุกขกรปฏิบัติการ”

ด้วยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้กับสังคมมาอย่างยาวนาน ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ราว 40 ไร่ และกว่า 1 ใน 3 เป็นพื้นที่สีเขียวที่ปลูกไม้ต้นนานาชนิดมากกว่า 1,800 ต้น 73 ชนิดใน 30 วงศ์ นับเป็นพื้นที่สวนป่าในเมืองขนาดใหญ่ที่มีอายุราว 50 ปีซึ่งต้องการการดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อยกระดับการจัดการต้นไม้ในเมืองอย่างยั่งยืน สวยงาม และถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 15 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก (Life On Land)

คณะวิทยาศาสตร์ฯ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้เชิญเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “รุกขกรปฏิบัติการ” ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถึง 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยแบ่งการอบรมออกเป็น 3 ช่วง 3 ระดับ รวม 80 ชั่วโมง และมีผู้รับการอบรมเป็นคนสวนคณะฯ และคนสวนจ้างเหมาบริการรวมทั้งสิ้น 13 คน เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นสำหรับบุคลากรระดับปฏิบัติการโดยเฉพาะหลักสูตรแรกของประเทศไทย ผสมผสานระหว่างองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการดูแลต้นไม้ ประกอบกับทักษะการปีนและปฏิบัติงานบนต้นไม้ ผ่านการบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทยา เจนจิตติกุล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.คงศักดิ์ มีแก้ว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยการจัดการป่าไม้ กรมป่าไม้ และคุณธราดล ทันด่วน ผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ในเมือง กรมป่าไม้ ควบคู่กับการฝึกปฏิบัติเก็บประสบการณ์จริงในหน่วยงานต้นสังกัด ทั้งนี้ เมื่อผ่านเกณฑ์การทดสอบทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ผู้ร่วมโครงการจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการปฏิบัติงานต่อไปทั้งนี้นับเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นสำหรับบุคลากรระดับปฏิบัติการโดยเฉพาะ และคาดหวังให้งานรุกขกรเป็นสาขาวิชาชีพที่ตอบสนองความต้องการของสังคมเมือง และมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเมืองอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีการร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 บริเวณสวนป่าคณะวิทยาศาสตร์ หลังสิ้นสุดการมอบใบประกาศนียบัตรรับรอง

หลังจากผ่านการอบรมหลักสูตรรุกขกรปฏิบัติการในครั้งนี้ รุกขกรทั้ง 13 คนของคณะวิทยาศาสตร์ได้เริ่มดำเนินการจัดการดูแลต้นไม้อย่างเต็มที่ โดยได้เริ่มตัดแต่งดูแลต้นไม้ภายในสวนป่าคณะวิทยาศาสตร์ให้สวยงามตามหลักวิชาการและปลอดภัยต่อชาวคณะวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง