logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทย์ ม.มหิดล จัดกิจกรรมเสวนา Mahidol Science Café: World Bee Day – save bees, save the world ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของผึ้งต่อระบบนิเวศและมนุษย์ในวันผึ้งโลก

20 พฤษภาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล กิจกรรมเสวนา Mahidol Science Café: World Bee Day – save bees, save the world ให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของผึ้งและระบบนิเวศและมนุษย์ เพื่อสร้างความตระหนักในการร่วมกันปกป้องผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่น ๆ จากการถูกคุกคาม ในวันผึ้งโลก (World Bee Day) โดยได้รับเกียรติจากนักพฤกษศาสตร์ที่มีประสบการณ์ในการศึกษาผึ้งในบทบาทของแมลงผสมเกสร (Pollinator) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพืชชนิดต่าง ๆ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อลิสา สจ๊วต ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ และนางสาวพิริยา หัสสา นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิทยากร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการในรูปแบบออนไลน์

วันผึ้งโลก (World Bee Day) ถูกกำหนดขึ้นให้ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของ Anton Janša ผู้ที่บุกเบิกวงการเลี้ยงผึ้งสมัยใหม่ (modern apiculture) โดยได้รับการสนับสนุนองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของผึ้ง ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างยิ่ง และกำลังเผชิญกับวิกฤติประชากรที่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ในการเสวนาวิทยากรได้พูดคุยให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของผึ้งต่อระบบนิเวศและมนุษย์ โดยให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า พืชในเขตร้อนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ต้องอาศัยผู้ช่วยผสมเกสรในการออกผล พร้อมยกตัวอย่างผักและผลไม้ต่าง ๆ ที่อาศัยผึ้งเป็นผู้ช่วยผสมเกสร เช่น มะม่วง แตงโม แอปเปิล อะโวคาโด แตงกวา ฟักทอง แมคคาเดเมีย โกโก้ วานิลลา กาแฟ ถั่วอีกหลายชนิด และกล่าวถึงผลกระทบหากผึ้งหายไป ซึ่งจะไปกระทบถึงพืชและสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในระบบนิเวศ จำนวนชนิดพันธุ์ของผึ้งทั้งโลก ในประเทศไทย และความหลากหลายของผึ้งที่มักพบได้ในกรุงเทพฯ สถานการณ์ประชากรของผึ้ง ภัยคุกคามจากสูญเสียที่อยู่อาศัยและอาหาร โดยการรุกล้ำพื้นที่ป่า การใช้สารเคมีในการทำการเกษตร การทำเกษตรเชิงเดี่ยว และอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อน พร้อมแนะนำแนวทางการช่วยอนุรักษ์ผึ้งที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ แม้อาศัยอยู่ในเมือง ด้วยการเลือกปลูกพืชผักสวนครัว และดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ให้มีความหลากหลาย ในสวนหลังบ้าน หรือสวนแนวตั้ง ตัดหญ้าให้น้อยครั้งลง เป็นต้น รวมถึงยกตัวอย่างกิจกรรมและโครงการอนุรักษ์ผึ้งในเมืองจากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น โรงแรมผึ้ง (Bes Hotel), การสร้างบ้านโดยใช้อิฐที่มีรูพรุนเพื่อให้ผึ้งทำรังได้, ป้ายรถเมล์ที่มีหลังคาเป็นไม้เลื้อย (Bus stop Bee Stop) เป็นต้น นอกจากนั้นยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัตว์ และแมลงผสมเกสรอื่น ๆ เช่น ค้างคาว นก ผีเสื้อ แมลงวัน แมลงหวี่ อีกด้วย

การเสวนาในครั้งนี้จะช่วยให้อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรในคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงบุคคลทั่วไป ตระหนักต่อความสำคัญของผึ้งต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยตลอดการเสวนามีผู้รับชมการเสวนาออนไลน์กว่า 35 คน ซึ่งผู้ที่สนใจรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/saXqPUqbOd

ภาพข่าว : https://science.mahidol.ac.th/news/may2567-20_03