logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Orientation and Problem Validation Workshop ภายใต้โครงการ Pre-Incubation for SPACE-F ช่วยเตรียมความพร้อมและเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมในโครงการ SPACE-F

วันที่ 27 กันยายน 2565 สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยหน่วยพัฒนาธุรกิจ งานพันธกิจพิเศษ (Business Development Unit : BDU) ได้ร่วมกันจัดโครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะทีมสตาร์ทอัพที่มาจากนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย ในมหาวิทยาลัยมหิดล ในรูปแบบสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ Workshop ต่าง ๆ รวมถึงการให้คำปรึกษากับทีมสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือกให้มาร่วมกิจกรรมตลอดเดือนตุลาคม ก่อนจะเปิดเวที Pitching นำเสนอผลงานในวัน Demo day ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

      โครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) จากกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในด้านต่างๆ ที่ SPACE-F ให้ความสนใจ ได้แก่ Health & Wellness, Alternative proteins, Novel food & Ingredients, Packaging solutions, Biomaterials & Chemicals, Packaging solutions, Smart Manufacturing, Restaurant tech, Food safety & Quality และ Smart food services รวมถึงเพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของนวัตกร (Startup Ecosystem) ในการขับเคลื่อน Entrepreneurs/Startups ที่เกิดจากกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยมหิดล และเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทีมมหิดลสตาร์ทอัพต่าง ๆ ที่บ่มเพาะจาก Mahidol Pre-incubation Program ในครั้งนี้ ให้สามารถนำไปสู่การเข้าร่วม โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ช่วงปลายปีนี้ต่อไป

 ในวันเปิดตัวโครงการมีการจัดกิจกรรมปฐมนิเทศ ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวเปิดงาน และเล่าถึงวัตถุประสงค์โครงการ ซึ่งในครั้งนี้มีทีมมหิดลสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 12 ทีม จากคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจำนวนกว่า 40 คน จากนั้น คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค นักพัฒนานวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จึงกล่าวถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน และปิดท้ายกิจกรรมในช่วงเช้าด้วย Dr. Chris Aurand, Open Innovation Leader จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด กล่าวแนะนำเกี่ยวกับ Thai Union และโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารแห่งแรกในประเทศไทย ประกาศเปิดตัวโครงการรุ่นที่ 3 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่าน และจะเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพสำหรับโครงการรุ่นที่ 4 ช่วงปลายปีนี้ 

      โครงการนี้ก่อตั้งขึ้นโดยจากความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแนวหน้าระดับโลก และมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรวงการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและบริษัทให้คำปรึกษาในระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเดินหน้าพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ทั้งในแง่การพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาด ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก โดยผ่านหลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการ และหลักสูตรเร่งการเติบโตทางธุรกิจ 

 ซึ่งที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก โดยมีเป้าหมายคือช่วยพัฒนาตอบสนองความต้องการของสตาร์ทอัพแต่ละราย อีกทั้งยังเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial ecosystem) ในมหาวิทยาลัยมหิดล สร้างโอกาสและการเรียนรู้ของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในการเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ (Startup) ของประเทศได้

      สำหรับกิจกรรม Workshop ของโครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F จะจัดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้งในหัวข้อต่าง ๆ ที่สำคัญกับการส่งเสริมความเป็นนวัตกร ได้แก่ Problem validation, Business model canvas (BMC) & Value proposition และ Storytelling & Pitching โดยกิจกรรม Workshop ครั้งแรกในงานปฐมนิเทศของโครงการฯ ได้รับเกียรติจาก คุณอภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง Chief Business Development Officer (CBDO) & Co-Founder บริษัท Airportels มาเป็นวิทยากรในหัวข้อ Problem Validation แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำความเข้าใจลูกค้าและการทดสอบไอเดียทางธุรกิจให้กับทีมสตาร์ทอัพที่ได้รับคัดเลือก ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ซึ่งในงานปฐมนิเทศครั้งนี้นอกจากเหล่าสตาร์ทอัพที่มาร่วม แล้วยังมีแขกผู้มีเกียรติจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (MIND Center: Medical Innovations Development Center) นำโดย ศ. นพ. มล.ชาคีย์ กิติยากร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ และคุณน้ำฝน ประโพธิ์ศรี ผู้ช่วยคณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมีผู้ประสานงานจาก Shark Tank Thailand ทั้งสองท่าน คุณพรทิพย์พา อาษา และคุณวัชราภรณ์ คุ้มทอง เข้าร่วมงานอีกด้วย

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/sep65-28