logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เสวนาหลักสูตรกู้โลก Sustainable Development Goals บทบาทของภาคการศึกษากับการผลิตบุคลากรเพื่อโลกอนาคตตาม SDG 8

ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีนโยบายสำคัญ คือ เป้าหมายในการสร้างให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ตามมาตรฐานสากล มหาวิทยาลัยต้องสร้างความยั่งยืนให้เกิดภายในองค์กรก่อน ด้วยการพึ่งพาตนเองได้ มีภูมิคุ้มกันที่ดีเมื่อเกิดภัยต่างๆ และสามารถฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤต ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการยอมรับในสังคม เมื่อนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนก็จะเกิดผลเป็นรูปธรรม

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ หลักสูตรกู้โลก Sustainable Development Goals บทบาทของภาคการศึกษากับการผลิตบุคลากรเพื่อโลกอนาคตตาม SDG 8 (ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน Decent Work and Economic Growth) และเป้าหมายที่ 4 ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ (Quality Education) ผ่านระบบ Cisco Webex ในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เวลา 10.00 – 12.00 น. ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล   คงเสรี คณบดี กล่าวเปิดการเสวนาและกล่าวต้อนรับ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากร คุณกุลวัลย์ สุพีสุนทร ผู้จัดการด้าน Sustainability และ Climate Change บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการนำ SDGs มาใช้บริหารองค์กรสู่มุมมองการนำมาใช้กับสถานศึกษา โดยมี อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ

การเสวนาเริ่มต้นด้วยการอธิบายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย จากนั้นได้ขยายความไปที่เป้าหมายที่ 8 ด้านส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ที่มีความสำคัญในด้านการบริหารองค์กร พร้อมเปิดประสบการณ์ในการนำไปใช้ในภาคธุรกิจเพื่อเป็นแนวคิดในการนำไปใช้ในภาคสถานศึกษา รวมทั้งการนำ Sustainable มาสอดแทรกในการเรียนการสอน พร้อมนำ SDGs มาเป็นตัวชี้วัดการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอน มีความคิดสร้างสรรค์ในการวัดผลลัพธ์ในองค์กร และเปิดประสบการณ์ที่น่าสนใจเมื่อครั้งยังศึกษาและทำงานที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยช่วงท้ายของการเสวนาได้ร่วมตอบคำถามจากผู้บริหาร และอาจารย์ ผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาในครั้งนี้อีกด้วย

https://science.mahidol.ac.th/news/jun64-16