logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแสดงหุ่นละครเล็ก กลุ่มเยาวชนวายุบุตร ตลาดน้ำคลองบางหลวง สืบทอดภูมิปัญญาเก่าแก่อันทรงคุณค่า

17 สิงหาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแสดงหุ่นละครเล็กจากกลุ่มเยาวชนวายุบุตร ณ อาคารสตางค์ มงคลสุข เพื่อสนับสนุนและสืบทอดภูมิปัญญาเก่าแก่อันทรงคุณค่า ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวเปิดการแสดง

หุ่นละครเล็ก มหรสพไทย ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 4 พัฒนามาจากการแสดงละครหุ่นหลวง การเชิดหนังใหญ่ และโขน รวมศาสตร์ศิลปะแขนงต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว เป็นหนึ่งในศิลปะที่ครั้งหนึ่งเกือบหายสาบสูญไปกับกาลเวลา แต่ด้วยความมุ่งมั่นของนักแสดงหุ่นละครเล็ก ทำให้จำนวนคณะแสดงหุ่นละครเล็กค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างช้า ๆ และกลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

คุณศราวุธ จันทรวรรณมานหรือครูบอล และสมาชิกกลุ่มวายุบุตรให้ความรู้เบื้องต้นก่อนการแสดง เช่น สาธิตการแต่งตัวโขน ซึ่งปกติแล้วเป็นขั้นตอนที่หาชมได้ยาก เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ความละเอียดอ่อน มีผู้ช่วยจำนวนมากในการแต่งตัวโขนเพียงตัวเดียว และอธิบายเครื่องแต่งกายพร้อมวิธีสวมใส่ โดยเน้นย้ำว่าภูมิปัญญาไทยนั้น จะไม่มีการตัดผ้าที่ใช้ในเครื่องแต่งกายเลย เนื่องจากเป็นผ้าที่ถักทอขึ้นมาด้วยความประณีตและมีราคาค่อนข้างสูง นอกจากนี้การที่เป็นผ้าผืนเดียวยังช่วยให้สวมใส่ได้ทุกขนาดอีกด้วย

คนที่มีชีวิตกลับกลายเป็นหุ่นเชิด หุ่นเชิดที่ไร้ชีวิตกลับมีชีวา หุ่นหนึ่งตัวต้องใช้คนเชิดถึงสามคน โดยผู้เชิดจำเป็นต้องมีพื้นฐานโขนเป็นอย่างน้อย 5 ปี ก่อนจะเชิดหุ่นละครเล็กได้เพราะจำเป็นต้องแยกประสาทในการเชิด โดยแบ่งหน้าที่ตามนี้ คนที่หนึ่งควบคุมแกนกลางเพื่อพยัก แหงน เอียงหัวและเชิดมือซ้าย คนที่สองเชิดเท้าทั้งสองข้าง และคนที่สามเชิดมือขวา ทั้งสามรวมใจเป็นหนึ่งแสดงอารมณ์ด้วยการใช้อวัจนภาษา ไม่สามารถพูดได้ระหว่างการแสดง ปิดท้ายด้วยการหาอาสาสมัครชายและหญิงฝ่ายละ 3 คน เพื่อสอนและสาธิตวิธีใส่เครื่องแต่งกาย ฝึกนุ่งโจงกระเบน วิธีการไหว้ครู เพื่อขออนุญาตจิตวิญญาณในหุ่นตามความเชื่อก่อนฝึก และการเชิดหุ่นเบื้องต้น

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/aug65-08_21