logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Cafe เคล็ดลับสอนออนไลน์อย่างไรให้ปัง แชร์วิธีจัดการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ในช่วงโควิด – 19

8 ตุลาคม 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Cafe “เคล็ดลับสอนออนไลน์อย่างไรให้ปัง” เปิดเวทีแชร์ประสบการณ์ตรงและเคล็ดลับการสอนให้ปังโดนใจผู้เรียนของ 4 อาจารย์ผู้ได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2563 ได้แก่ ผศ. ดร.วิทวัชร์ โฆษิตวัฒนฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ อ. ดร.เอกวัจน์ เชาว์วิชารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ อ. ดร.นฤพัฒน์ หงษ์ดิลกกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และ อ. ดร.ภัคพล พงศาวกุล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา โดยมี อ. ดร.ทิพาลัคน์ กฤตยาเกียรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการผ่านทาง Facebook live

ตลอดการเสวนาวิทยากรทั้ง 4 ท่านได้พูดคุยแชร์ประสบการณ์จริง และมุมมองต่อการสอนออนไลน์ ในประเด็นความท้าทายของการสอนออนไลน์ วิธีการออกแบบการสอน ไปจนถึงวิธีการสอบและการวัดผลออนไลน์ ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้ข้อจำกัดจากการปิดสถานศึกษาเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

โดย ผศ. ดร.วิทวัชร์ โฆษิตวัฒนฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ ผู้สอนรายวิชา วทคณ 211 หลักคณิตศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ประจำปี 2563 ระดับชมเชย ประเภท Blended Learning Course เผยว่าโดยปกติก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด – 19 นั้น มีการจัดการเรียนการสอนในห้องแบบ flipped classroom อยู่แล้ว จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนแบบออนไลน์ได้ โดยมีหลักการคือให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยวีดีโอจากที่บ้านก่อน แล้วจึงมาทำกิจกรรมร่วมกันในห้องเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้เรียนได้ลองผิดลองถูก ให้โอกาสนักศึกษาแก้ปัญหาเองโดยมีอาจารย์ให้คำแนะนำ สอดคล้องกับปรัชญาการสอนของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเน้นจัดการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยใช้การเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างเสริมความรู้ ความสามารถและทักษะใหม่ได้ด้วยตนเองด้าน

อ. ดร.เอกวัจน์ เชาว์วิชารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ ผู้สอนรายวิชา วทคณ 111 แคลคูลัส ซึ่งได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ประจำปี 2563 ระดับชมเชย ประเภท Media Design for Online Teaching ได้กล่าวถึงมุมมองต่อการจัดการสอนออนไลน์ว่า เป็นการเตรียมของให้ครบ สำหรับคนที่มีจริตในการเรียนต่าง ๆ กัน แต่ละคนมีความพร้อมไม่เท่ากัน และด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันก็สร้างความเครียดให้กับผู้เรียนมากพออยู่แล้ว การเรียนออนไลน์จึงไม่ควรเพิ่มความเครียดให้กับผู้เรียนอีก ไว้ใจว่าเขามาเพื่อเรียนรู้ ไม่ได้มาเอาคะแนนอย่างเดียว และทำให้เขาไว้ใจว่าเรากำลังช่วยให้เขาเรียนรู้อยู่เสมอ ดังนั้นในวิชานี้จึงไม่มีการเช็คชื่อ แต่จะเน้นการทำแบบฝึกหัด มีการจัดทำวิดีโออธิบายบทเรียนให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ล่วงหน้าได้ มีเอกสารประกอบการสอนที่เน้นบรรยายความสมเหตุสมผลของสิ่งต่าง ๆ และมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาให้ไม่กลัวทั้งตัววิชาที่เรียน และกลัวอาจารย์ โดยอยากให้นักศึกษามีมุมมองว่า อาจารย์ก็เป็นคนธรรมดา มาคุยกันได้ทุกเรื่อง

ส่วน อ ดร.นฤพัฒน์ หงษ์ดิลกกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้สอนรายวิชา วททช 304 ปฏิบัติการสรีรวิทยาและพันธุศาสตร์จุลินทรีย์ ซึ่งได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ประจำปี 2563 ระดับชมเชยประเภท Online Engagement and Motivation Techniques, Innovations and Learning Models ได้เผยถึงการจัดการเรียนการสอนรายวิชาปฏิบัติการแบบออนไลน์ที่ถือว่าท้าทายอย่างมาก เนื่องจากจะต้องออกแบบให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะการทำแล็บได้ใกล้เคียงกับการเรียนในสถานที่จริง รู้จักการแก้ปัญหา และแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ให้นักศึกษาได้เห็นอย่างครบถ้วน ซึ่งมองว่าการใช้วิดีโอสำเร็จรูปอาจจะไม่ตอบโจทย์ จึงได้ร่วมกับทีมอาจารย์ออกแบบการสอนและพัฒนาสื่อการสอน โดยจัดทำสื่อวิดีโอตามคู่มือปฏิบัติการ ที่มีการเน้นรายละเอียด และจุดสำคัญอย่างชัดเจน เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจขั้นตอนการทำแล็บได้ดีขึ้น พร้อมกับได้แนะนำเกี่ยวกับการจัดทำวิดีโอสื่อการสอนอีกด้วย

ขณะที่ อ. ดร.ภัคพล พงศาวกุล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ผู้สอนรายวิชา วทศท 121 วิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อสุขภาวะ และ วทศท 122 วิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อการมีชีวิตที่ดี ซึ่งได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ประจำปี 2563 ระดับชมเชย ประเภท Online Engagement and Motivation Techniques, Innovations and Learning Models ได้เล่าถึงประสบการณ์การสอนออนไลน์ที่มีผู้เรียนกว่า 1,073 คน ซึ่งประยุกต์ใช้องค์ความรู้มาจากการเข้าร่วมโครงการ Innovative Teaching Scholar Program by Stanford d.school – the Hasso Plattner Institute of Design มาปรับใช้ในการสอนออนไลน์ และนอกจากนั้นได้ฝากถึงสิ่งที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักศึกษากลุ่มใหญ่ว่าต้องมีการวางแผนลำดับบทเรียน ใบงาน และ quiz ที่ชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อให้นักศึกษาสามารถวางแผนและจัดการกับตารางเรียนได้ และเกิดความยุติธรรมกับนักศึกษา

สำหรับการประเมินผลการสอนนั้นแต่ละวิชามีรูปแบบที่ต่างกัน เช่น วิชาแคลคูลัสจะไม่มีการสอบแต่จะให้การบ้านทุกสัปดาห์โดยการให้ทุกคนตั้งโจทย์เอง วิชาหลักคณิตศาสตร์จะมีการวัดผลหลายรูปแบบให้นักศึกษาเลือก ทั้งการทำ Project การตั้งคำถามปลายเปิด และการสอบแบบ take home วิชาปฏิบัติการสรีรวิทยาและพันธุศาสตร์จุลินทรีย์จะเน้นให้นักศึกษารู้จักวิเคราะห์แก้ปัญหาผ่านการสอบแบบ open book exam ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อสุขภาวะและวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อการมีชีวิตที่ดี ก็จะมีการผสมผสานระหว่างให้นักศึกษาอ่าน ฟัง ค้นคว้า เป็นงานเดี่ยวหรืองานกลุ่ม เพื่อตอบคำถามปลายเปิด หรือเป็น Quiz ในแต่ละหัวข้อ เป็นต้น

และในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลที่มอบรางวัลการสอนออนไลน์ เป็นกำลังใจในการสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักศึกษาต่อไป และสะท้อนถึงมุมมองต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ว่า การสอนออนไลน์ถึงแม้ว่าอาจจะลดประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนไป แต่เทคโนโลยีหรือเทคนิคบางอย่างที่ได้ทดลองใช้ในช่วงนี้ก็สามารถปรับใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ ในวันที่สามารถกลับมาเรียนในห้องเรียนได้ พร้อมเสนอให้มีเวทีให้นักศึกษาได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ ปิดท้ายด้วยการให้กำลังใจแก่อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=3019991441577395

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/oct64-08_01/