logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สภาอาจารย์และทีมพัฒนาทรัพยากรบุคคล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษเนื่องในโอกาสเดือนแห่งวันสตรีสากล

       20 มีนาคม 2567 สภาอาจารย์และทีมพัฒนาทรัพยากรบุคคล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ เนื่องในโอกาสเดือนแห่งวันสตรีสากล “International Women’s Day” รูปแบบ Hybrid ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล และเข้าร่วมออนไลน์ ผ่านทางโปรแกรม WebEx

       โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชชุดา พยุหกฤษ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นประธานกล่าวเปิด และขอบคุณคณะผู้ทำงานที่ทำให้การจัดเสวนาเกิดขึ้น วัตถุประสงค์ของการจัดเสวนาพิเศษในครั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริม สร้างกำลังใจ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสายวิชาการ เกี่ยวกับบทบาทของสตรีบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรสายวิชาการที่สมควรเป็นแบบอย่าง

       การเสวนาในครั้งนี้ ได้แบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพาลัคน์ กฤตยาเกียรณ์ กรรมการสภาอาจารย์ และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวุฒิ เจริญสุทธิวรากุล กรรมการสภาอาจารย์ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ

       ช่วงแรกบรรยายในหัวข้อเรื่อง บทบาทของสตรีบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ (Women in Science) โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิติธัญญานนท์ หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา โดยมีประเด็นน่าสนใจ ที่กล่าวถึงในช่วงของการระบาดของ COVID -19 ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทสำคัญของผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในการเป็นแนวหน้าต่อสู้และรับมือกับไวรัส COVID-19 ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ นวัตกร นักวิจัยวัคซีน ที่ตั้งใจทำหน้าที่ของตนเพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัยให้ทุกคน และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงรุ่นต่อไปให้กลายเป็นพลังรุ่นใหม่ในโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าบทบาทของผู้หญิงเริ่มมีความโดดเด่นและชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งไม่ได้เพียงแค่มีองค์ความรู้เพียงพอที่สร้างสรรค์งานวิจัยที่มีคุณค่า แต่หากยังสามารถประยุกต์ให้งานวิจัยเหล่านั้นเกิดเป็น “ธุรกิจนวัตกรรม” ที่เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ดังนั้น การสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในทุกวงการจึงถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของผู้หญิงและเยาวชนหญิงในวงการวิทยาศาสตร์มีเพิ่มมากขึ้น ที่ประสบความสำเร็จด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

       และในช่วงที่สอง เสวนาในเรื่องของ  Work-Life Balance : สมดุลชีวิตและการทำงาน โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภก. อมรรัตน์ นรานันทรัตน์ เจนเซน อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิชีววิทยา, รองศาสตราจารย์ ดร.กรกมล เลิศสุวรรณ กรรมการสภาอาจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี และ รองศาสตราจารย์ ดร.อลิสา สจ๊วต กรรมการสภาอาจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างสมดุลการทำงานและการดูแลครอบครัวในบทบาทของคุณแม่นักวิทย์ ที่จะต้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อมและการจัดการเวลาในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อไม่ให้กระทบ หรือกระทบกับการทำงานงานน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ การลาคลอด รวมไปถึงการแบ่งเวลาเพื่อดูแลเลี้ยงดูบุตรธิดาไปพร้อม ๆ กับการสอนและทำงานวิจัย ซึ่งหากไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและบทบาทคุณแม่ได้ อาจส่งผลไปถึงการจัดการในด้านอื่น ๆ ได้อย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน

ภาพข่าว : https://science.mahidol.ac.th/news/mar67-20/