logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

8 เมษายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café: อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น พูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 และการรับมือ ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์กับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยทางด้านระบาดวิทยาและชีวฟิสิกส์ ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักแปล และบรรณาธิการหนังสือ ‘เมื่อโลกติดเชื้อ ฉบับกระชับ’ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักชีวฟิสิกส์ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้ร่วมแปลหนังสือ ‘เมื่อโลกติดเชื้อ ฉบับกระชับ’ ผ่านทาง Facebook live และทาง Mahidol Channel โดยมีผู้รับชมกว่า 1,000 คน

ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ได้ปูความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการระบาดใหญ่ (Pandemic) และการระบาดเฉพาะถิ่น (Endemic) หรือที่เราเรียกว่าโรคประจำถิ่นว่า การแพร่ระบาดแบบ Pandemic นั้น เราสามารถพบการระบาดได้ทั่วโลก ส่วน Endemic เราสามารถพบการระบาดได้ในบางพื้นที่ ซึ่งการระบาดของโรคประจำถิ่นมี 2 ลักษณะที่สำคัญคือ ปรากฏอยู่เรื่อย ๆ ในถิ่นนั้น ๆ และมีลักษณะบางอย่างที่ทำนายหรือคาดการณ์ได้

เมื่อกลับมามองว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ดร.นําชัย กล่าวว่า แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็มองว่ายังเร็วเกินไปที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โอกาสเกิดสายพันธุ์ใหม่ และแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางยังคงมีอยู่ เหมือนกับกรณีการเกิดขึ้นของสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งเข้ามาแทนที่การระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอยู่ก่อนหน้าได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับภาพรวมของการกระจายของวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลกก็ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อยที่ประชากรยังได้รับวัคซีนไม่ครบ การจบการระบาดทั่วโลกจึงยังไม่ง่ายนัก

ในกรณีของประเทศไทยที่ปัจจุบันเลือกจะรับมือกับการระบาดโดยเปลี่ยนผ่านโควิด-19 ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น หากดูจากเกณฑ์การเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งระบุไว้ 5 ข้อ ได้แก่ มีการติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อวัน, มีอัตราการตายน้อยกว่า 0.1% ของผู้ติดเชื้อ, มีการป่วยเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่า 10% ของผู้ติดเชื้อ, ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม และประชากรทั่วไปมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ เมื่อเทียบกับข้อมูลรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทย พบว่าเรายังมีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คนต่อวัน ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มยังไม่ครอบคลุม รวมถึงจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องการติดเชื้อยังน้อย การเปลี่ยนผ่านโควิด-19 จึงอาจจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ได้ให้ข้อมูลในมุมของคนทำแบบจำลองโรคระบาด (disease modeler) ว่า Endemic ในความหมายของคนทำแบบจำลองคือ การระบาดที่มีแนวโน้มคงที่ สามารถคาดการณ์การระบาดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการระบาดจะจบลง หรือโรคจะมีความรุนแรงน้อยลง เมื่อเราคำนวณตามเงื่อนไขของการเข้าสู่ Endemic นั่นคือ R0 x S = 1 โดยที่ R0 เป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัส โดยในกรณีของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้น R0 มีค่าประมาณ 10 และ S คือสัดส่วนของประชากรที่ยังสามารถติดเชื้อได้ ดังนั้น การระบาดจะเข้าสู่ Endemic ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องมีประชากรที่ยังสามารถติดเชื้อได้เพียง 10% ซึ่งหมายความว่าประชากรอีก 90% จะต้องมีภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้ว และจากข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ที่ถึงแม้ทุกคนจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน ประชากรจะมีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อลดลงเหลือแค่ประมาณ 45% นั่นคือเรายังขาดคนที่มีภูมิคุ้มกันอีก 45% ซึ่งอาจต้องเกิดขึ้นจากการติดเชื้อร่วมด้วย เพื่อให้สุทธิแล้วประชากรมีภูมิคุ้มกันครบ 90% พร้อมเสริมว่าการจบลงของโรคระบาดไม่จำเป็นต้องจบลงด้วย Endemic เสมอไป และการจบการระบาดของโรคที่ดีที่สุดคือการกำจัดโรคให้หมดไปด้วยการควบคุมโรคอย่างรวดเร็วอย่างเช่น กรณีของโรคซาร์ส เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ มองว่าเมื่อเลือกจะเปลี่ยนผ่านเป็น Endemic แล้วสิ่งที่ทำได้คือ พยายามลดผลกระทบจากการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งการฉีดวัคซีนสามารถช่วยได้ และประเทศไทยในตอนนี้มีวัคซีนมากเกินพอ จึงขอแนะนำให้ทุกคนไปรับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควบคู่กับการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ ได้เสริมเกี่ยวกับประเด็นการรับมือโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีข้อมูลรายงานว่าพบการติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การติดเชื้อในมิงค์ในประเทศเดนมาร์ก และการระบาดในฝูงกวางป่าในธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้การกำจัดการระบาดของโรคโควิด-19 ให้หมดสิ้นไปนั้นทำได้ยากยิ่ง และมีโอกาสเชื้อสายพันธุ์ที่ติดในสัตว์ป่าจะย้อนกลับมาติดเชื้อสู่คนได้ในอนาคต ดังนั้นการรับมือจะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งวงการการแพทย์และสาธารณสุข สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)” ขององค์การอนามัยโลก เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขในการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร การสร้างสร้างสภาวะแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและติดตามโรคอุบัติใหม่ และการจัดการเชื้อดื้อยา

ในตอนท้ายของการเสวนาวิทยากรและผู้ดำเนินรายการได้พูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบกระทบจากการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ที่อาจจะยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก คือ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุซึ่งจะเห็นได้ชัดหลังจากนี้ และราคาวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใช้ในปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ทั่วโลกก็มีการพัฒนาวัคซีนในรูปแบบใหม่ ๆ มาแข่งขันกันมากขึ้น เช่นวัคซีนแบบพ่น ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากในการฉีดวัคซีน และอาจจะเป็นตัวปิดเกมการระบาดได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างต่างจากปีที่แล้ว ปีนี้เรามีวัคซีน และมีแนวทางจัดการการติดเชื้อโควิดโดยพยายามรักษาระดับจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขยังพอรับไหว อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีน และเตือนว่าการปล่อยให้ตนเองติดเชื้อนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากขณะนี้มีการศึกษาภาวะลองโควิด (Long COVID) พบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด มีโอกาสป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต มากกว่าคนทั่วไป และอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมาอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าศึกษาเจาะลึกในอนาคต และฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดว่า สิ่งที่จะช่วยให้รับมือกับการระบาดได้ดีขึ้นก็คือระบบข้อมูลที่ดี หากเรามีข้อมูลที่ถูกต้องใกล้เคียงความจริง ก็เหมือนรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง การเลิกรายงานการติดเชื้อไม่สามารถทำให้โควิดหายไปได้ เรามองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเสวนา Mahidol Science Café : อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=665780231341183

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/apr65-08