ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม ภาควิชาชีววิทยา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.facebook.com/AdvGreenFarm
โลกกำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม จากวงจรการผลิตและการบริโภคอย่างไม่ยั่งยืนที่ทับถมมาอย่างยาวนานจนทำให้โลกรวน สภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง ในหลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารซึ่งกำลังทวีความรุนแรง ในขณะที่จำนวนประชากรโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการประมาณการของสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs) คาดการณ์ว่าเราจะต้องผลิตอาหารเพิ่มให้ได้อย่างน้อยถึง 70 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนประชากรโลกที่น่าจะพุ่งสูงขึ้นไปแตะหลักหมื่นล้านคนในปี 2050
แล้วเราควรจะเพาะปลูกอะไรจึงจะผลิตอาหารที่เลี้ยงประชากรโลกได้อย่างเพียงพอและไม่ทำร้ายโลกไปมากกว่านี้ “วูฟเฟีย” ชื่อวิทยาศาสตร์ Wolffia globosa หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “ไข่น้ำ” หรือ “ผำ” พืชน้ำขนาดเล็ก อาหารพื้นบ้านไทยแต่โบราณ ที่ผู้คนทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือนิยมนำมาประกอบเป็นอาหารพื้นถิ่น อาจจะเป็นหนึ่งในคำตอบ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ซึ่งมีความสนใจด้านพลังงานและการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของพืชวงศ์แหน พืชดอกขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไปบนผิวน้ำที่เป็นน้ำจืดและน้ำนิ่งในประเทศไทย โดยอาศัยหลักฐานทางสัณฐานวิทยาและเชิงชีวโมเลกุลพร้อมทั้งศึกษาประโยชน์จากพืชตระกูลแหน พบว่าประเทศไทยมีอยู่หลายสายพันธุ์ หลายชนิดมีอัตราการเจริญรวดเร็วและมีปริมาณสารอาหารสูง จึงเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่สำคัญของสัตว์จำนวนมาก และเมื่อนำมาใช้เป็นอาหารในการเพาะเลี้ยงสัตว์และปลาพบว่าเป็นแหล่งอาหารคุณภาพดี สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโต ช่วยให้สัตว์น้ำมีสีสวย ไข่ไก่มีปริมาณวิตามิน เอ สูงขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมสีเขียวและเป็นพลังงานชีวมวลได้อีกด้วย แหนหลายชนิดมีศักยภาพในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยดูดซับสารอาหารและสารมลพิษในน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความเป็นไปได้ในการนำมาประยุกต์ใช้ในระบบชีวภาพหมุนเวียน (biocircular) และในบรรดาพืชวงศ์แหนที่พบในประเทศไทย “ไข่น้ำ” หรือ “ผำ” นั้นมีความพิเศษที่น่าสนใจอย่างมาก
“ผำ” จัดเป็นพืชดอกขนาดเล็กที่สุดในโลก แตกต่างแหนชนิดอื่นตรงที่มีขนาดเล็กกว่า ไม่มีราก และพบได้เฉพาะในแหล่งน้ำสะอาดเท่านั้น ซึ่งผลการศึกษาจากทีมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971 พบว่าผำมีปริมาณโปรตีนสูง เจริญเติบโตได้ไว ใช้ทรัพยากรการผลิตต่ำ
– สามารถให้ผลผลิตโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลืองเมื่อเทียบในพื้นที่การเพาะปลูกที่เท่ากัน
– มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนและอุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นอีกมากมาย อาทิ
– เหล็ก แคลเซียม สังกะสี ช่วยเสริมกระดูก การไหลเวียนโลหิต และเพิ่มภูมิคุ้มกัน
– วิตามิน บี 12 ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ซึ่งไม่พบในผลิตภัณฑ์จากพืชตามธรรมชาติชนิดอื่น
– วิตามิน เอ ลูทีน ซีอาแซนทิน ช่วยบำรุงสายตา
– วิตามิน บี-คอมเพล็กซ์ วิตามิน ซี วิตามิน อี วิตามิน เค โฟเลต ซีอาแซนทิน ลูทีน และสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ ในระดับสูง
– ย่อยง่าย ไฟเบอร์สูง ดีต่อระบบการย่อยอาหาร
– มีแคลอรี่ แป้ง น้ำตาลและไขมันต่ำ เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนัก
– ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้เทียบเท่ากับป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่ ๆ เท่ากันอีกด้วย
จากลักษณะเฉพาะและคุณประโยชน์อันโดดเด่นของผำที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของผำในการเป็น “อาหารแห่งอนาคต” แต่การเพาะเลี้ยงและการใช้ประโยชน์จากผำในประเทศไทยยังไม่ได้รับการพัฒนา จึงเริ่มศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงผำด้วยระบบเกษตรแม่นยำ จนถึงการใช้ประโยชน์จากผำในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและผลักดันให้ผำเป็น “อาหารแห่งอนาคต” สามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย โดยดำเนินการในรูปแบบของธุรกิจสตาร์ทอัพ และได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตด้านนวัตกรรมอาหาร SPACE-F ซึ่งก่อตั้งภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และมหาวิทยาลัยมหิดล จนได้ผลิตภัณฑ์อาหารจากผำที่เป็นยอมรับและเป็นทางเลือกใหม่ของกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจในอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารจากพืชทั้งภายในประเทศไทยและทั่วโลก ในสภาวะวิกฤตด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารซึ่งกำลังทวีความรุนแรง คณะผู้วิจัยพัฒนาศักยภาพพืชน้ำขนาดเล็ก “ไข่น้ำ” หรือ “ผำ” อาหารพื้นบ้านไทยแต่โบราณ มีปริมาณสารอาหารสูง แคลอรี่ต่ำ และไฟเบอร์สูง จึงต่อยอดสู่บริษัท startup ของไทย ชื่อ บริษัท Advanced GreenFarm นอกจากนี้ฝำยังสามารถดูดซับสารอาหารและสารมลพิษในน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในระบบชีวภาพหมุนเวียน (biocircular) และยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้เทียบเท่ากับป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่ ๆ เท่ากันอีกด้วย