logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบของระยะห่างจากชุมชนต่อสถานภาพและการกระจายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมด้วยกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าในพื้นที่เป้าหมายขยายงานอนุรักษ์ ลุ่มน้ำตาหริ่ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เพื่อการวางแผนและประเมินการอนุรักษ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทนนท์ กลศาสตร์เสนี ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://sway.office.com/9PluR3GEjTqs0jUA?ref=Link&loc=play

จากความสำเร็จของโครงการอนุรักษ์ชะนีมงกุฎโดยชุมชนมีส่วนร่วมที่ได้จัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2552 ถึง 2555 ที่ลุ่มน้ำตาหริ่วเหนือ ลุ่มน้ำย่อยน้ำเขียวและทะรอก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนเก็บของป่าในท้องถิ่นที่เคยล่าชะนีมงกุฎเพื่อเป็นอาหารระหว่างการเก็บของป่า จนส่งผลให้ประชากรชะนีมงกุฎซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์กลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เคยมีการล่าได้นั้น

ผู้วิจัยได้เล็งเห็นศักยภาพในการขยายงานอนุรักษ์โดยชุมชนมีส่วนร่วมไปยังลุ่มน้ำย่อยใกล้เคียงได้แก่ ลุ่มน้ำย่อยวังโป่ง ตาหัน สีละมัน และคลองพลู แต่เนื่องจากลุ่มน้ำย่อยดังกล่าวมีชะนีมงกุฎอาศัยอยู่น้อย การใช้ชะนีมงกุฎเป็นชนิดพันธุ์เรือธง (Flagship species) ในการอนุรักษ์ดังเช่นในอดีตอาจทำได้ยาก จึงมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนมาใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในการอนุรักษ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการสำรวจสถานภาพในเบื้องต้นก่อน จากการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าจำนวน 5 กล้อง โดยติดตั้งเรียงจากบริเวณขอบป่าไปยังใจกลางป่าเป็นเวลา 376 วัน พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด 15 ชนิด ได้แก่ หมูป่า กวางป่า ลิงกังเหนือ กระทิง เก้ง หมูหริ่ง เม่นใหญ่ ช้างป่า หมีควาย อีเห็นข้างลาย แมวดาว หมีหมา หมาใน พังพอนกินปู และเสือลายเมฆ โดยมักพบ กวางป่า เก้ง กระทิง และช้างป่ามากบริเวณขอบป่า และพบ หมูป่า หมูหริ่ง และลิงกังเหนือมากบริเวณใจกลางป่า พื้นที่กึ่งกลางระหว่างขอบป่ากับใจกลางป่า (ลุ่มน้ำย่อยตาหัน) พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลากชนิดมากที่สุดจึงเห็นว่าควรเพิ่มความสำคัญในการอนุรักษ์ที่พื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่พื้นที่ใจกลางป่า (ลุ่มน้ำย่อยน้ำเขียว) แม้จะเป็นพื้นที่ที่พบชะนีมงกุฎมากที่สุดแต่กลับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมน้อยที่สุด ด้วยการพบเจอที่บ่อยบริเวณขอบป่า ประกอบกับความสง่างามของชนิดพันธุ์ ทำให้กวางป่าและกระทิงมีศักยภาพในการเป็นสิ่งมีชีวิตเรือธง  เพื่อสร้างพฤติกรรมอนุรักษ์ในชุมชน

ในขณะเดียวกันเสือลายเมฆรวมถึงหมาในซึ่งเป็นผู้ล่าระดับบนก็มีศักยภาพในการเป็นสิ่งมีชีวิตให้ร่มเงาแก่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น (Umbrella species) ได้ต่อไป ผู้วิจัยมีความกังวลหากจะมีการรื้อฟื้นโครงการอ่างเก็บน้ำคลองตาหลิว ของกรมชลประทาน ซึ่งจะทำให้พื้นที่ศึกษาเกือบทั้งหมดถูกทำลาย และการอนุรักษ์ของชุมชนท้องถิ่นที่ได้ทำสะสมมามากกว่าสิบปีจะจบสิ้นลงอย่างไร้ความหมาย

สายน้ำทุกสายในลุ่มน้ำตาหริ่วจะไหลมารวมกันเป็นคลองตาหริ่ว แล้วไหลออกสู่พื้นที่ชุมชนบริเวณระหว่างตำบลจันทเขลมและตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ
ตามแผนการก่อสร้าง จะมีการสร้างเขื่อนหิน (Rock-fill dam) ในลุ่มน้ำย่อยวังโป่ง โดยนำหินจากเขาไผ่ตงที่ตั้งอยู่ระหว่างลุ่มน้ำย่อยตาหันและคลองพลูมาใช้ในการสร้างเขื่อน รวมทั้งมีการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำและสร้างทางส่งน้ำต่อจากสันเขื่อนด้วย เมื่อการสร้างเขื่อนเสร็จสิ้นพื้นที่ป่าที่จมอยู่ใต้น้ำจะถูกทำลายอย่างถาวร
ช้างป่า
กระทิง
หมาใน
เก้งเหนือ