logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

The IX International Scientific and Practical Conference on Biotechnology as an Instrument for Plant Biodiversity Conservation : Biotech 2021

12 กรกฎาคม 2564 ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมพืชสวนนานาชาติ (International Society for Horticultural Science: ISHS) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ครั้งที่ 9 “The IX International Scientific and Practical Conference on Biotechnology as an Instrument for Plant Biodiversity Conservation (Physiological, Biochemical, Embryological, Genetic and Legal Aspects)” หรือ “Biotech 2021” แลกเปลี่ยนความก้าวหน้าจากการวิจัย สร้างโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อสังคมในระดับโลก

Biotech 2021 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิทยากรด้านพืชสวนระดับนานาชาติเพื่ออนุรักษ์พันธุ์พืช และความหลากหลายทางชีวภาพในทุกแง่มุม ซึ่งด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การประชุมครั้งนี้จึงเลื่อนจากกำหนดเดิมในปีที่แล้ว มาเป็นปีนี้ และปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Cisco WebEx meeting และ Vimeo โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 13 กรกฎาคม 2564 นี้ ซึ่งมีผู้คนในวงการการวิจัย การศึกษา และการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับโลก จำนวนกว่า 90 คนจาก 18 ประเทศ เข้าร่วมแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ ความท้าทายที่เกิดจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความสำเร็จล่าสุดในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพที่สามารถนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ และการตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืช เช่น ความผันแปรทางพันธุกรรม ที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการอยู่รอดของพืชทุกชนิดในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ การปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งซ้ำเติมให้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น ในปี ค.ศ. 2020-2021 และพบว่ามีคนขาดสารอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ล้านคน ไปจนถึงการผลิตอาหารเพื่อให้เพียงพอกับประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050

ในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์ หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.ครรชิต ธรรมศิริ ผู้จัดการประชุมในครั้งนี้ พร้อมด้วย Prof. Dr. Jorge Canhoto, Chair of the division of Plant Genetic Resources and Biotechnology (ISHS) ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์และเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อลิสา สจ๊วต และ อาจารย์ ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ เป็นพิธีกร ก่อนจะถ่ายภาพร่วมกับ นางกัญญาภรณ์ พิพิธแสงจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ ผู้แทนอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้ให้เกียรติเดินทางมาร่วมพิธีเปิด ที่จัดขึ้นภายใต้มาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ณ ห้องประชุม L-02 อาคารบรรยายรวม ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ทั้งนี้ ในการประชุมในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มีการมอบรางวัลสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาเอก “ISHS Young Minds Award” โดยผู้ได้รับรางวัลการนำเสนอแบบบรรยายยอดเยี่ยม คือ João Martins จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ University of Coimbra ประเทศโปรตุเกส จากเรื่อง Chemotyping and in vitro conservation of strawberry tree (Arbutus unedo L., Ericaceae) และผู้ได้รับรางวัลการนำเสนอแบบโปสเตอร์ยอดเยี่ยม คือ นายพสธร หน่อพันธุ์ จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากเรื่อง Micromorphology and histochemistry on lip of Orchidantha foetida (Lowiaceae)