เริ่มต้นจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. พิไล พูลสวัสดิ์ เริ่มงานวิจัยตั้งแต่ปี พศ. 2521 ได้ทำการศึกษาวิจัยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จนถึงปัจจุบัน ต่อมาปี พศ. 2539 ได้ขยายงานวิจัยออกไปในเขตผืนป่าภาคตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และภาคใต้ อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จนถึงปัจจุบันได้มีการสำรวจการแพร่กระจายและสถานภาพของนกเงือกทั่วประเทศ เพื่อความต่อเนื่องและขอบเขตของงานวิจัย จึงเกิดแรงผลักดันให้มีการจัดตั้งเป็น “มูลนิธิ” ขึ้น โดยได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2536
ในโลกมี “นกเงือก” หรือ “Hornbills” อยู่หลากหลายพันธุ์ถึง 52 ชนิด บวกกับ Ground Hornbills อีก 2 ชนิดเป็น 54 ชนิด จำง่ายๆ ก็คือ มีจำนวนเท่ากับไพ่ 1 สำรับ(52ใบ) รวมโจ๊กเกอร์อีก 2 ใบ เท่านี้ก็ไม่ยากแล้ว “นกเงือก” ส่วนใหญ่พบอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าและป่าดิบเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเอเชีย เขตร้อนของทวีปเอเชียมีนกเงือกหลากหลายถึง 31 ชนิด ในประเทศไทยเรามีนกเงือกให้จดจำกันถึง 13 ชนิด อย่าได้สับสนกับ “นกทูแคน” (Toucan) ของอเมริกาใต้
“นกเงือก” มีรูปร่างหน้าตาโบราณที่ถือกำเนิดมาไม่น้อยกว่า 50 ล้านปี ไม่มีสีสันสะดุดตา ขนมักมีสีดำ-ขาว บางชนิดมีขนสีน้ำตาล หรือ เทา ส่วนที่มีสีฉูดฉาดอยู่บ้างก็เป็นหนังเปลือย เช่น หนังบริเวณคอ หนัง ขอบตา แต่สีเหลืองสดจัดจ้านที่ปรากฎบนส่วนขนสีขาว หรือบริเวณปากและโหนกของนกกก นกเงือกหัวแรด และนกชนหินนั้น มาจากสีของน้ำมันที่นกทาและแต่งแต้มขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง พวกมันรู้จักใช้ “เครื่องสำอาง” น้ำมันนี้ผลิตโดยต่อมน้ำมัน ซึ่งอยู่บนโคนหาง อันที่จริงนกใช้น้ำมันทาขนเพื่อรักษาสภาพของขน ทำนองเดียวกับมนุษย์ใช้น้ำมันใส่ผมเพื่อรักษาสภาพเส้นผมนั้นล่ะ บทบาทเด่นของนกเงือกในระบบนิเวศป่าคือ ช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดที่มีประสิทธิภาพมาก เนื่องจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้ที่สุก และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นตัวช่วยปลูกป่าและปลูกแหล่งอาหาร ทั้งของนกเงือกและสัตว์ป่าอื่นๆและยังรักษาความหลากหลายของพืชและสัตว์ จึงจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นร่มเงาให้กับสัตว์ชนิดอื่น (Umbrella species) ทำให้สังคมพืชเกิดความสมดุล และช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงและหนูเป็นต้น จากความสัมพันธ์ของนกเงือกมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเหมาะที่จะจัดนกเงือกเป็นชนิดพันธุ์ที่เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า (Indicator species) แต่ละแบบได้อีกด้วย
หน่วยงานที่ร่วมดำเนินการวิจัย
ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มีงานวิจัยที่ต้องรับผิดชอบหลายโครงการ ซึ่งดำเนินการวิจัยโดย โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมอุยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) แห่งประเทศไทย คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร
พื้นที่วิจัยหลัก
- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
- อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
อนุรักษ์ชนิดพันธุ์ของนกเงือกในประเทศไทย 13 ชนิด ที่มีสถานภาพในประเทศไทยดังนี้
- ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) เช่น นกชนหิน (จัดเป็นสัตว์สงวนอันดับที่ 20 ของประเทศไทย) นกเงือกปากย่น นกเงือกดำ
- ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เช่น นกเงือกหัวหงอก นกเงือกหัวแรด นกเงือกคอแดง
- มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) เช่น นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว นกเงือกกรามช้างปากเรียบ
- ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) เช่น นกกก นกเงือกปากดำ นกเงือกกรามช้าง
- ไม่ถูกคุกคาม (Least Concerned) เช่น นกแก๊ก
โดยติดตามการเพิ่มจำนวนประชากรของนกเงือกในประเทศไทยทุกปี จากงานวิจัยของโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก (เป็นโครงการต่อเนื่อง) ข้อมูลในปี 2563 ของพื้นที่วิจัยหลัก 3 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ. นครราชสีมา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ. อุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ. นราธิวาส ได้ผลการวิจัยทางด้านความหนาแน่นของโพรงรัง และประชากรลูกนกเงือกในแต่ละปี ดังนี้ มีจำนวนโพรงรังนกเงือกทั้งหมดที่ดูแล 434 โพรงรัง นกเงือกใช้ทำรังออกลูก 232 โพรงรัง (53%) ได้ลูกนกออกสู่ธรรมชาติเฉพาะในปี 2563 จำนวน 268 ตัว
การประสบความสำเร็จในการทำรังของนกเงือก ส่วนใหญ่เป็นโพรงซ่อมแซม/ปรับปรุงให้/โพรงเทียม 130 โพรง (61%) และเป็นโพรงที่ไม่เคยซ่อมแซมเลยเพียง 82 โพรง (39%) สรุปได้ว่า ต้องมีการซ่อมแซม/ปรับปรุงโพรงรังให้เหมาะสมสำหรับนกเงือก มิฉะนั้น ถ้าไม่ช่วยกันซ่อมแซม/ปรับปรุงโพรงรัง จำนวนประชากรนกเงือกในแต่ละพื้นที่จะลดจำนวนลงแน่นอน
ภัยคุกคามจากมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของการลดลงของประชากรนกเงือก ในประเทศไทยการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำไม้ การทำไร่เลื่อนลอย และการตั้งถิ่นฐาน เป็นสาเหตุหลักที่คุกคามนกเงือก นอกจากนี้การล่าทั้งเพื่อการค้าและเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ยังเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกเช่นกัน ดังนั้นการเฝ้าระวังโดยมีนักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย และชาวบ้าน คอยดูแลนกเงือกจะช่วยให้นกเงือกคงอยู่ได้สืบต่อไป
การอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ที่มีความสำคัญ การฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมนั้น ถ้าพื้นที่ไหนมีประชากรนกเงือกคงอยู่ ป่านั้นก็จะมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เพราะนกเงือกเป็นนกที่มีขนาดตัวใหญ่ (ขนาดความยาว 75-150 เซนติเมตร) เป็นนกที่มีความอ่อนไหวต่อการใช้พื้นที่อาศัย และพื้นที่หากิน ลักษณะความต้องการพื้นที่อาศัยที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง การอนุรักษ์นกเงือกจึงก่อให้เกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพิทักษ์รักษาคุณภาพระบบนิเวศป่าไม้ เพราะนกเงือกมีอิทธิพลต่อสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศป่าเดียวกัน โดยจากพฤติกรรมการเลือกกินผลไม้ที่สุกกว่า 100 ชนิด และนำพาเมล็ดไปทิ้งในพื้นที่ต่างๆ ที่บินไปหากินในแต่ละวัน พบว่านกเงือกกรามช้างปากเรียบโดยเฉลี่ยระยะทางบิน 120-140 กิโลเมตร/วัน นกกก มีพื้นที่หากิน 660 ตารางกิโลเมตร ส่วนนกเงือกกรามช้างมีพื้นที่หากิน 880 ตารางกิโลเมตรจึงเป็นตัวช่วยปลูกป่ากระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ (seed disperser) ที่มีประสิทธิภาพและช่วยฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ ป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนมา ทั้งยังช่วยรักษาความหลากหลายของพืชป่าอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศอันเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์นานาชนิด นอกจากนี้ยังเป็นผู้ล่าแทนที่พวกเหยี่ยว จึงช่วยควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู กระรอก กิ้งกือ ตะขาบ และแมลงต่างๆ ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และยังมีความอ่อนไหวต่อพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป จากความสัมพันธ์ของนกเงือกกับระบบนิเวศป่าที่สมบูรณ์ในแง่ต่างๆ ทำให้นกเงือกเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่ดี ยกตัวอย่างเช่น
ปี 2563 มีลูกนกเงือกเกิดในธรรมชาติ 268 ตัว ดังนั้นในปี พศ. 2564 ลูกนกเงือกเหล่านี้จะปลูกต้นไม้ได้กล้าไม้อย่างน้อยที่สุด
= 268 ตัว x 1 เมล็ด x 365 วัน x 0.05 (อัตราการรอดตายน้อยที่สุด 5%) = 4,891 ต้น
จากการติดตามสัญญาณวิทยุผ่านดาวเทียม (Satellite tracking) ของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ พบว่า มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่ามากที่สุดคือ ป่าผสมผลัดใบ 29% ซี่งเป็นป่าที่นกเงือกกรามช้างปากเรียบใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูทำรัง (มค.-มิย.) ในผืนป่าห้วยขาแข้ง รองลงมาคือ ป่าดิบชื้น 28% ซึ่งใช้ประโยชน์ในช่วงนอกฤดูทำรัง คือรวมฝูงแล้วอพยพลงมาทางภาคใต้ของไทย พื้นที่เกตรกรรม 6% ใช้ในระหว่างเส้นทางบินกลับไปที่รังและบินอพยพออกจากบริเวณที่ทำรัง ป่าดิบเขา 4% บินหากินในช่วงทำรัง และป่าเบญจพรรณ 0.2% ส่วนอีก 34% พบจุดการกระจายในประเทศพม่าและมาเลเซีย ไม่สามารถระบุชนิดของป่าได้ ดังนั้นจึงต้องหาแนวเชื่อมต่อป่า(corridor) ของนกเงือกเพื่อระบุพื้นที่สำคัญ และการทำ Zoning เพื่อการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ต่อไปในอนาคต
การพัฒนากลไกในการปกป้อง คุ้มครอง และฟื้นฟูชนิดพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์นกเงือก
– จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติในการอนุรักษ์นกชนหินในภาคใต้ โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นกชนหินปัจจุบันประเทศไทยจัดให้เป็นสัตว์สงวนอันดับที่ 20 และเป็นนกเงือกที่มีความพิเศษไม่เหมือนนกเงือกชนิดอื่นๆ คือมีโหนก (casque) ตัน เหมือนงาช้าง มีสีแดงเข้ม จึงถูกล่าเพื่อเอาโหนกไปแกะสลัก ทำเป็นเครื่องประดับ ในปี พศ. 2556 ที่ประเทศอินโดนีเซีย นกชนหินถูกล่าเอาหัวส่งไปขายที่ประเทศจีนถึง 6,000 หัว สถานภาพนกชนหินในระดับโลกถูกยกระดับมีสถานภาพเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) และเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชี 1 (CITES, 2018) นกชนหินมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้นี้ หากยังถูกล่าเพื่อเอาโหนกไปแกะสลัก และยังมีการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง
นกชนหินในประเทศไทยเริ่มเผชิญกับภัยคุกคามการล่า ทั้งล่าเอาโหนกไปแกะสลัก และขโมยลูกนกชนหินจากในโพรงไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เพื่อไม่ให้นกชนหินในประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามเช่นเดียวกับนกชนหินในประเทศอินโดนีเซีย จึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการอนุรักษ์นกเงือกแห่งชาติ” เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานของแผน ผ่านการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ และพิจารณาการปรับปรุงแผน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2563 ใช้ระบบการลาดตระเวน การติดตามตรวจสอบ การทำงานวิจัยให้เข้มข้นในพื้นที่ ปรับปรุงข้อมูลสถานภาพของประชากรนกชนหินในประเทศไทย ทั้งการกระจาย ความชุกชุม และจำนวนประชากรของนกชนหินในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อการคุ้มครอง และฟื้นฟูประชากรนกชนหินในธรรมชาติทั้งในพื้นที่ที่ยังคงมีนกชนหินอาศัยอยู่ และพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป
– การฟื้นฟูประชากรนกกกในพื้นที่อนุรักษ์ทางภาคเหนือ โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และองค์กรสวนสัตว์แห่งประเทศไทย สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งนกกกในประเทศไทยจัดอยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม แต่ในพื้นที่ภาคเหนือไม่พบประชากรนกกกมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 50 ปี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อุทยานแห่งชาติขุนตาล อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติขุนแจ และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา โดยทั้ง 6 พื้นที่อนุรักษ์เชื่อมต่อกัน ในปี 2563 จึงได้เริ่มประเมินถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับเตรียมปล่อยนกกก โดยวิธี (1) การสำรวจภาคสนาม ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone/UAV) และการวางแปลงสำรวจพันธุ์ไม้ เปอร์เซ็นต์ของการปกคลุมเรือนยอด โดยพิจารณาองค์ประกอบต้นไม้ในแปลง ดังนี้ ประเภทป่า จำนวนและชนิดทั้งหมดของต้นไม้ จำนวนและชนิดพันธุ์ไม้ใหญ่ (DBH>40cm) และต้นไม้อาหารนกเงือก เพื่อดูโอกาส และศักยภาพของต้นไม้ที่เป็นโพรงรัง และชนิดอาหารที่สำคัญ ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกพื้นที่เตรียมสร้างกรงปล่อยของนกกก (2) การประเมินพื้นที่ในการสร้างกรงและปล่อยนกกก ประกอบด้วย การประชุมคัดเลือกพื้นที่โดยผู้เชี่ยวชาญ (Expert opinions) และการเลือกพื้นที่ด้วยโปรแกรมการตัดสินใจ โดยใช้โปรแกรมผืนป่าแห่งชีวิต หรือ Living Landscapes จากการอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการรอดของนกกก
การสำรวจและวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของนกเงือก
การวิจัย และการติดตามสถานภาพการขยายพันธุ์ของนกเงือกทุกปี ในพื้นที่วิจัยหลัก 3 แห่งคือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี ซึ่งจะเป็นต้นแบบ และตัวอย่างของงานวิจัยให้แก่พื้นที่อื่นๆ เช่น
- พื้นที่ที่ไม่พบการแพร่กระจายของประชากรนกเงือกแล้ว เช่น ผืนป่าทางภาคเหนือ และเกาะกูด จ. ตราด ที่จะมีโครงการนำนกเงือกกลับไปคืนสู่ธรรมชาติ โดยมีการสำรวจพื้นที่ก่อนว่ามีพันธุ์ไม้ที่เป็นอาหารนกเงือกเพียงพอ แล้วจึงจะนำนกเงือกไปปล่อย และติดตามนกเงือกโดยใช้เครื่องระบุตำแหน่งด้วยสัญญาณดาวเทียม
- พื้นที่ที่พบว่ามีจำนวนประชากรนกเงือกน้อย จนวิกฤตใกล้จะสูญพันธุ์ ก็จะมีการเพิ่มโอกาสให้นกเงือกที่มีอยู่ได้ทำรัง เพื่อออกไข่เลี้ยงลูก โดยการติดตั้งโพรงรังเทียม และปรับปรุงโพรงต้นไม้ในธรรมชาติให้เหมาะสมที่นกเงือกจะใช้ทำรังได้
การมีส่วนรวมในการอนุรักษ์นกเงือกให้เกิดความยั่งยืน
- อบรมเชิงปฎิบัติการ เรื่องการทำวิจัยนกเงือก การฝึกปีนต้นไม้ซ่อมแซมโพรงรังให้นกเงือก การเดินลาดตระเวนสำรวจประชากรนกเงือก ให้แก่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในแต่ละพื้นที่
- องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับชาวบ้านผู้ช่วยวิจัย จัดท่องเที่ยวขึ้นภูเขา ดูทะเลหมอก และเดินป่าไปดูพฤติกรรมการทำรังของนกเงือก โดยชาวบ้านที่เป็นผู้ช่วยวิจัยโครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด (อุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี) ที่มีหน้าที่เฝ้าระวัง ดูแล เก็บข้อมูลนกเงือก ที่บริเวณหมู่บ้านกะรุบี ต. เจาะกะพ้อ อ.กะพ้อ จ. ปัตตานี ได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้ใหญ่บ้าน และชุมชนในหมู่บ้าน จัดทำโฮมสเตย์ และเป็นไกด์นำทางไปท่องเที่ยว
- กลุ่มอาสาสมัครบุคคลทั่วไปร่วมกับนักวิจัย ช่วยซ่อมแซมโพรงรังนกเงือก ในพื้นที่วิจัย ในปี 2563 ได้ปีนต้นไม้เพื่อเช็คสภาพโพรงรัง/ติดตั้งโพรงเทียมจำนวน 79 ต้น มีจำนวนโพรงรังเก่าในต้นไม้ที่เสียต้องซ่อมแซม 46 โพรง มีโพรงเทียมที่พังต้องซ่อมแซม 4 โพรง ปรับปรุงโพรงไม้ธรรมชาติให้เหมาะสมสำหรับนกเงือกอีก 17 โพรง และติดตั้งโพรงเทียมเพิ่มอีก 4 โพรง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายพันธุ์ของนกเงือก
- สื่อมวลชน
- จากบริษัทป่าใหญ่ครีเอชั่น จำกัด ไปถ่ายทำสารคดี “The Hornbill Lady” ที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ. นราธิวาส โดยคนแสดงนำเรื่องนี้คือ นางสาวนูรีฮัน ดะอูลี ผู้ช่วยวิจัยในโครงการชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด สารคดีนี้ชนะการประกวดสารคดีนานาชาติ ในงานเทศกาลภาพยนต์ EIDF 2020 ที่ประเทศเกาหลีใต้ (17th EBS International Documentary Festival)
- จากสถาบันลูกโลกสีเขียว ไปสำรวจ และถ่ายทำรายการ เรื่องราวของชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด โดยมีนักวิจัย นายปรีดา เทียนส่งรัศมี ซึ่งเป็นผู้ดูแลชาวบ้านผู้ช่วยนักวิจัยเหล่านี้ และสถาบันลูกโลกสีเขียว มอบรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ประจำปี 2562
- จากสมาคมอุทยานแห่งชาติ ไปถ่ายทำสารคดี สีสรรแห่งชีวิตในผืนป่า มรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เรื่อง ปักษาไพร ลมหายใจแห่งผืนป่า ออกอากาศทางทีวีช่อง New 18 โดยมี คุณนนทรีย์ นิมิตบุตร เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีนายณรงค์ จิระวัฒนกวี และนายพิทยา ช่วยเหลือ นักวิจัยในโครงการฯ เป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ
การเสริมสร้างศักยภาพการจัดการ และการติดตามการดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์นกเงือกในพื้นที่อย่างยั่งยืน
โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ. นราธิวาส ปัตตานี ยะลาเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์นกเงือกร่วมกับชาวบ้านที่เคยเป็นพรานล่านกเงือก แล้วกลับใจมาเป็นผู้ดูแล เฝ้าระวังนกเงือก โดยให้ประชาชนร่วมบริจาคสมทบทุนเข้ามาในโครงการ และนำเงินเหล่านี้ไปจ้างชาวบ้านให้เป็นผู้ดูแล เก็บข้อมูล เฝ้าระวังนกเงือก และเมื่อครบปี นักวิจัยจะทำรายงานสรุปของโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือกให้แก่ทุกท่าน ถ้าประชาชนที่เป็นผู้อุปการะสนใจจะไปเยี่ยมชมโพรงรังนกเงือกที่ตนเองอุปการะอยู่ ก็สามารถไปได้ โดยจะมีชาวบ้านที่เป็นผู้ดูแลพาไปเยี่ยมชม ปี 2563 มีโพรงรังที่ชาวบ้านดูแลอยู่ทั้งหมด 103 รัง มีชาวบ้านในพื้นที่ดูแลทั้งหมด 41 คน
การเสริมสร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญและคุณค่าของนกเงือกเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
ชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเกาะยาวน้อย จ.พังงา โดยนักวิจัยจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ไปสอน อบรม บรรยาย และเป็นที่ปรึกษาจัดการถ่ายทอดความรู้เรื่องการดูแล การอนุรักษ์นกเงือก เพื่อให้รู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น และให้คงอยู่ได้ไม่สูญหายไปจากท้องถิ่น และสามารถทำให้เกิดประโยชน์ มีรายได้กลับคืนมาสู่ท้องถิ่น โดยวิธีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ การติดตั้งโพรงเทียมสำหรับนกเงือก โดยร่วมกับผู้ประกอบการรีสอร์ท ร้านอาหาร บนเกาะยาวน้อย และจัดนำนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมนกเงือกช่วงฤดูทำรัง
สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน การสอนสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education) ทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษานอกระบบ ทุกระดับ
สนับสนุนการเรียนการสอน โดยใช้นกเงือกเป็นสื่อ ให้กับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (กาญจนบุรี) นิสิตจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และนักเรียนนอกระบบ (Home school) เรียนที่ชุมชนอนุรักษ์นกเงือกเทือกเขาบูโด จ. นราธิวาส
ประชาสัมพันธ์ และอบรมให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนในท้องถิ่น ได้รับทราบถึงกฏหมายและสิทธิของตนเองในการดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงบทบาทในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูนกเงือกชุมชนคนรักษ์นกเงือกเกาะช้าง จ. ตราด โดยในอุทยานแห่งชาติเกาะช้าง ปี 2563 ได้เกิดการล่านกเงือกขึ้น นักวิจัยจากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ร่วมกับอาสาสมัคร และชาวบ้านในพื้นที่ โดยมีรองนายกเทศมนตรี เป็นผู้รวมพลังในการปกป้องนกเงือก มีการขับเคลื่อนทางสังคม จัดตั้งกลุ่มรักษ์นกเงือกขึ้น และจัดกิจกรรม “รักษ์นกเงือกเกาะช้าง” โดยนักวิจัยได้ไปร่วมเสวนา ให้ความรู้ วิธีการปกป้องอนุรักษ์นกเงือกที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง บทลงโทษทางกฎหมายแก่ผู้ล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่ออนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่ได้เป็นมรดกทางธรรมชาติบนเกาะช้างสืบต่อไป อีกทั้งนกเงือกยังเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวมาชมฝูงนกเงือกบนเกาะอีกด้วย
การสร้างความรู้ ความเข้าใจเพื่อให้เกิดความตระหนัก และเห็นความสำคัญต่อการร่วมอนุรักษ์ คุ้มครอง และดูแลนกเงือก และภูมิปัญญาท้องถิ่นในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์ รวมถึงชุมชนที่เกี่ยวข้อง
ทางนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ได้รับเชิญไปให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกเงือก การสร้างและติดตั้งโพรงรังเทียมสำหรับนกเงือก การดูแลนกเงือกในพื้นที่นั้นๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ คุ้มครอง และดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะนกเงือก และยังมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการท่องเที่ยงเชิงนิเวศ โดยใช้นกเงือกเป็นจุดขาย ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้
- เกาะยาวน้อย จ.พังงา ร่วมกับ ชุมชน กลุ่มสตรี อสม. ผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะ โฮมสเตย์ ร้านอาหาร
- เกาะช้าง จ. ตราด ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเกาะช้าง รองนายกเทศมนตรี ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์นกเงือกเกาะช้าง
- เกาะเสม็ด จ. ระยอง ร่วมกับผู้ประกอบการรีสอร์ทปารดี
- ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) จ. นราธิวาส ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัย