เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จัดกิจกรรม Mahidol Science Research Forum ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ในโลกปัญญาประดิษฐ์และปัญญาประดิษฐ์ในโลกวิทยาศาสตร์” โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์สุจินต์ วังสุยะ ภาควิชาฟิสิกส์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัลลภ ฮวบสมบูรณ์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ เป็นวิทยากร และ รองศาสตราจารย์ ดร.รพีพรรณ วานิชวิริยกิจ จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์และหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง (Centex Shrimp) มาร่วมแชร์ประสบการณ์การใช้ AI ในการวิจัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวเปิดกิจกรรม และรองศาสตราจารย์พลังพล คงเสรี คณบดี ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรม พร้อมกล่าวปิดการบรรยาย ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับความสนใจจากอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรมแบบออนไซต์ และออนไลน์ผ่านระบบ Webex meeting รวมกว่า 55 คน
ในการบรรยาย อาจารย์สุจินต์ วังสุยะ ภาควิชาฟิสิกส์ ผู้บรรยายในหัวข้อ ‘มอง AI ในฐานะผู้ช่วยวิจัย’ กล่าวว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นโดยพื้นฐานถูกขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นที่สนใจในปัจจุบันคือปัญญาประดิษฐ์ที่เลียนแบบธรรมชาติการทำงานของสมอง เช่น โครงข่ายประสาทเทียม ที่ถูกนำมาทดแทนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ลงไปหลายขั้นตอน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัลลภ ฮวบสมบูรณ์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ผู้บรรยายในหัวข้อ ‘ขบวนรถด่วน AI มาไวกว่าที่เราคิด’ ได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์ของ AI เบื้องต้น การประยุกต์ใช้ AI ในด้านสุขภาพ ข้อเสียของ AI และชวนคิดต่อในหัวข้อ ‘เราควรพัฒนา AI ต่อไปหรือไม่’ โดยกล่าวว่า ในหลายด้าน AI ได้เข้ามาทดแทนมนุษย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่มีอำนาจมาก และในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทำไมเราไม่นำมาใช้ ซึ่งในประเด็นนี้เผยว่า จะบรรยายต่อยอดในกิจกรรมซีรีส์ต่อไป พร้อมเสนอว่าควรมีองค์กรที่กำกับดูแลมาตรฐานของ AI ก่อนที่จะพัฒนา AI ต่อไปเพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลัง
ด้านนักวิจัยผู้มาร่วมแชร์ประสบการณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.รพีพรรณ วานิชวิริยกิจ จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์และหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง (Centex Shrimp) ได้เล่าถึงการนำ AI มาใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับวินิจฉัยโรคในกุ้งจากการวิเคราะห์เนื้อเยื่อของกุ้งโดยใช้ภาพถ่าย ซึ่งช่วยลดเวลา และความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างนักวิจัยได้ โดยมี AI เป็นตัวกลางในการให้ข้อมูล
และในช่วงถามตอบของนักวิจัยซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการบรรยาย รองศาสตราจารย์พลังพล คงเสรี คณบดี ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยกล่าวว่า มองว่าการเสวนาในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการรวมกลุ่มวิจัยและการสร้าง Partnership และการสร้าง Impact ของ AI ต่อสังคมต่อไปในอนาคต AI ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัยอย่างเดียวเท่านั้น ยังสามารถนำมาใช้ในกระบวนการทำงานและการศึกษาได้อีกด้วย