logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สรุปการแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาและการวิจัยครั้งที่ 2 ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Prof. Dr. Annette Ladstaetter-Weissenmayer, Dean of the Faculty of Physics and Electrical Engineering, University of Bremen ประเทศเยอรมนี

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร. ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี ร่วมกับอาจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ รศ.ดร. ดาครอง พิศสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และ รศ.ดร. ดวงใจ นาคะปรีชา ผู้แทนหัวหน้าภาควิชาเคมี ได้ร่วมให้การต้อนรับ Prof. Dr. Annette Ladstaetter-Weissenmayer, Dean of the Faculty of Physics and Electrical Engineering, University of Bremen ประเทศเยอรมนี โอกาสเข้าร่วมประชุมพูดคุยปรึกษาหารือในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อสร้างความร่วมมือทางด้านการศึกษาและการวิจัย ระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Faculty of Physics and Electrical Engineering, University of Bremen หลังจากที่ทั้งสองสถาบันได้มีการประชุมพูดคุยและได้ข้อสรุปร่วมกันในขั้นหลักการ ในการสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยระหว่างกัน เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565

          ในโอกาสการพูดคุยในรายละเอียดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ ได้มีอาจารย์ นักวิจัย ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีวเคมี และกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ เข้าร่วมพูดคุยปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อนำมาซึ่งข้อสรุปในการกำหนดรายละเอียดกิจกรรมเพื่อเริ่มต้นการสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยระหว่างสองสถาบัน

          โดยในขั้นแรกนี้ ทั้งสองสถาบันได้ข้อสรุปร่วมกันในการจัดกิจกรรมประชุมและสัมมนาร่วม (Joint Seminar/Conference) เพื่อสร้างความคุ้นเคยต่อกัน รวมถึงทำความรู้จักบุคลากร งานวิจัย และรูปแบบการเรียนการสอนของบุคลากรจากทั้งสองสถาบันก่อน โดยจะจัดการประชุมและสัมมนาร่วมแบบออนไลน์ (Online) ซึ่งบุคลากรในภาควิชาที่เกี่ยวข้องจากสองสถาบันสามารถกลับไปศึกษาข้อมูลนักวิจัยและงานวิจัยของทั้งสองฝ่ายได้อย่างอิสระ เพื่อระบุตัวนักวิจัยที่สามารถพัฒนากิจกรรมทางวิชาการร่วมกันได้ (Identified potential partners) และนำเสนอหัวข้อการสัมมนาให้กับคณะทำงาน และร่วมกันพิจารณาคัดสรรหัวข้อการประชุมสัมมนาที่เห็นตรงกันแบบหัวข้อเดียว (Particular topic) แบบหลายหัวข้อ (Different topics) หรือจัดสัมมนาในลักษณะเป็นซีรีส์ (Series Siminar) โดยหัวข้อการสัมมนาที่มีศักยภาพอาจมาจากหลายสาขาวิชา อาทิ Environmental Physics, Data Analyis in Physics, Chemistry, Biology, Materials Science เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หัวข้อการสัมมนาที่คัดสรรจะต้องมีลักษณะไม่ใช่หัวข้อใหญ่ ต้องเป็นหัวข้อที่กระชับ และไม่ซับซ้อนจนเกินไป และเป็นหัวข้อที่บุคลากร/นักวิจัย ของทั้งสองสถาบันมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นเข้ามาแบบ Bottom-up นอกจากนี้ Prof. Dr. Annette Ladstaetter-Weissenmayer มีความยินดีในการที่จะเป็นผู้ประสานงานกับภาควิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของ Faculty of Physics and Electrical Engineering, University of Bremen ในการที่จะร่วมนำเสนอหัวข้อการประชุมร่วมด้วย

          ทั้งสองสถาบันมีความเห็นตรงกันที่ดำเนินการสร้างความร่วมมือโดยจะจัดสัมมนาร่วมในเดือนมกราคม 2566 โดย ผศ.ดร. ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มีความยินดีรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก (Focal point/Contact person) ในการที่จะประสานงานเรื่องการคัดสรรหัวข้อการสัมมนา วางแผนการทำงาน และนัดประชุมปรึกษาหารือครั้งต่อไป รวมไปถึงการดำเนินการอื่นๆ ที่จะขับเคลื่อนการจัดการประชุมสัมมนาครั้งนี้ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทั้งสองสถาบัน

          สำหรับการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร (Student and staff exchange) และการทำวิจัยร่วม (Joint research)  ที่ประชุมปรึกษาหารือได้มีความคิดเห็นร่วมกันที่จะดำเนินการหลังจากที่ได้มีการจัดสัมมนาร่วมกันแล้ว ซึ่งคาดว่าบุคลากรทั้งสองสถาบันได้ทำความรู้จักและมีความคุ้นเคยกันระดับหนึ่งแล้ว อันจะนำมาซึ่งการวางแผนจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนสำหรับนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยทาง Prof. Dr. Annette Ladstaetter-Weissenmayer เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาแบบนับหน่วยกิต (Credit) ได้ 

          ระยะเวลาที่เปิดรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนของ Faculty of Physics and Electrical Engineering, University of Bremen สามารถทำได้ระหว่าง เดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี  ซึ่งการสร้างความร่วมมือฯ ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษานั้นอาจจะพิจารณาใช้งานวิจัยเป็นฐานในการสร้างกิจกรรม (Research-based activity) ในขณะที่การแลกเปลี่ยนในระดับปริญญาตรี สามารถดำเนินการได้โดยใช้หลักสูตร (Program) เป็นตัวนำในการออกแบบกิจกรรมการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ จะได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง หลังจากกิจกรรมสัมมนาร่วมเสร็จสิ้นแล้ว

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/oct65-05