logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การต้อนรับและพูดคุยเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการกับ Prof. Dr. Annette Ladstaetter-Weissenmayer, Dean of the Faculty of Physics and Electrical Engineering, University of Bremen ประเทศเยอรมนี

             คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รศ. ดร.พลังพล คงเสรี พร้อมด้วย ศ. ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และ รศ. ดร.กิตตศักดิ์ หยกทองวัฒนา รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนานักศึกษา ได้ร่วมให้การต้อนรับ Prof. Dr. Annette Ladstaetter-Weissenmayer, Dean of the Faculty of Physics and Electrical Engineering, University of Bremen ประเทศเยอรมนี ในโอกาสเดินทางมาพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาและการวิจัยระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Faculty of Physics and Electrical Engineering, University of Bremen เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565

           ในโอกาสการให้การต้อนรับและพูดคุยเพื่อแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการกับ Prof. Dr. Annette Ladstaetter-Weissenmayer ในครั้งนี้ ได้มีอาจารย์ นักวิจัย ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาเคมี และกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ เข้าร่วมพูดคุยปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันด้วย เพื่อนำมาซึ่งข้อสรุปในความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาและการวิจัยในสาขาวิชาที่สองสถาบันมีความเชี่ยวชาญ

           โดยสองสถาบันมีความคิดเห็นร่วมกัน ในการที่จะสถาปณาความร่วมมือในหลายกิจกรรม ในด้านการศึกษาและการวิจัย ทั้งที่เป็นความร่วมมือระยะสั้นและความร่วมมือในระยะยาว อาทิ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร (Student and Staff Exchange) การจัดประชุมและสัมมนาร่วม (Joint Seminar, Conference and Workshop) การแลกเปลี่ยนทางด้านการวิจัย (Research Exchange) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ เป็นต้น โดยทั้งสองสถาบันให้ความสำคัญกับความร่วมมือระยะสั้นซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถเริ่มต้นได้ทันทีภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี เช่น กิจกรรมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร ทั้งรูปแบบ Inbound และ Outbound ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมเอกสาร เช่น การสร้างหลักสูตรแบบ Joint Degree และ Double Degree ในระดับปริญญาโทและเอก ที่ทั้งสองสถาบันมีหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่สามารถพัฒนาร่วมกันได้ เป็นต้น

           การพูดคุยในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปร่วมกันในขั้นหลักการ ในการที่จะสร้างโอกาสและเพิ่มพูนประสบการณ์ตรงทางวิชาการให้กับนักศึกษาและบุคลากรของทั้งสองสถาบันจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยให้นักศึกษาและบุคลากรมีส่วนร่วม รวมไปถึงการได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และพูดคุยกับนักศึกษาและนักวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุของคณะวิทยาศาสตร์ด้วย

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/sep65-18-2