logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดบ้านต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ “Field Study Program S “Bio-resource and Environment” กระชับความสัมพันธ์การวิจัยไทย-ญี่ปุ่น

8 – 9 กันยายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดบ้านต้อนรับอาจารย์และนักศึกษาแลกเปลี่ยนระดับปริญญาโทชั้นปีที่ 1 และ 2 จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ “Field Study Program S “Bio-resource and Environment” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้ศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัยในประเทศไทย กระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือด้านวิชาการที่เข้มแข็งของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซาก้า เป็นมหาวิทยาลัยพันธมิตรที่มีความร่วมมือทางวิชาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ภายใต้โครงการความร่วมมือในระบบมหาวิทยาลัยแม่ข่าย (Core University System) ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Society for the Promotion of Science) หรือ JSPS หลังจากโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีจึงได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพต่อไปอีกก้าวหนึ่ง ด้วยการจัดตั้งหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า หรือ MU–OU:CRC ขึ้น พร้อมกับเปิดหน่วยความร่วมมือการวิจัย สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นสาขาต่างประเทศแห่งแรกของศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า (CRS, ICBiotech, Osaka University) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเน้นที่งานวิจัยและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยการแลกเปลี่ยนทางวิชาการในวันที่ 8 กันยายน 2565 นี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี หัวหน้าหน่วย MU–OU:CRC ได้ให้การต้อนรับคณะอาจารย์และนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า พร้อมนำเยี่ยมชมศูนย์การวิจัยและโครงการดำเนินงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ ณ  มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท อาทิ โครงการ SPACE–F ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ แนะนำโครงการ SPACE–F สร้างความเข้าใจในการพัฒนางานวิจัยเพื่อนำไปสู่การเกิดนวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในระบบนิเวศอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย พร้อมเชิญชวนนักศึกษาแลกเปลี่ยนมาร่วมเปิดประสบการณ์การทำ Startup ก่อนนำชมบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่โครงการ ณ ชั้น 6 อาคารชีววิทยาใหม่ ในช่วงเช้า

และในช่วงบ่ายเป็นการบรรยายพิเศษ “My Journey in Science” โดย อาจารย์ ดร.นฤพัฒน์ หงษ์ดิลกกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศิษย์เก่าระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยโอซาก้า ที่มาบอกเล่าประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนและการทำงานในสายอาชีพนักวิจัยในต่างประเทศ ณ ห้อง L–04 อาคารบรรยายรวม ตึกกลม แล้วจึงนำคณะนักศึกษาแลกเปลี่ยนเยี่ยมชมหน่วย MU–OU:CRC ซึ่งส่งเสริมและดำเนินงานวิจัยโดยเน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ต่อด้วยเยี่ยมชมศูนย์วิจัยการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery) หรือ ECDD ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่เน้นการศึกษากลไกการเกิดโรค และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาตัวยาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐาน ISO ณ อาคารพรีคลินิก ต่อด้วยเยี่ยมชมภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ณ อาคารเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมุ่งเน้นในการค้นคว้าวิจัยทางวิชาการด้านต่าง ๆ เช่น การปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตสารสำคัญต่าง ๆ จากพืชและสมุนไพร, เอนไซม์, ยาปฏิชีวนะ, วัคซีน, กรดอะมิโน, กรดอินทรีย์, น้ำตาลเชิงซ้อน โดยใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมของเชื้อจุลินทรีย์และเนื้อเยื่อพืช และวิศวกรรมเคมีชีวภาพ ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการจนถึงระดับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนมีความเข้าใจแนวทางวิจัย และเกิดความเชื่อมโยงเพื่อพัฒนางานวิจัยของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

จากนั้นในวันที่ 9 กันยายน 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดสัมมนา SSSV2022 Japan–Thailand Student Research Seminar: Bioresources and Biotechnology for Sustainable Development ณ ห้อง L-04 อาคารบรรยายรวม ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกล่าวต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาแลกเปลี่ยนในนามของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาในครั้งนี้ ก่อนกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ Short Stay Short Visit หรือ SSSV ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยโอซาก้าและมหาวิทยาลัย 4 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JASSO เพื่อให้โอกาสแก่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้พักและทำวิจัยระยะสั้นในมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพ ปัจจุบันมีนักเรียนไทย 134 คน และนักเรียนญี่ปุ่น 193 คน เข้าร่วมในโครงการนี้ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมการวิจัยระดับนานาชาติ แต่ยังช่วยเพิ่มความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นอีกด้วย และกิจกรรมนี้จะช่วยสร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยโอซาก้าและทีมนักวิจัยในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในปัจจุบันให้มีความเข้มแข็งและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การสร้างความร่วมมือใหม่และมีประสิทธิภาพในอนาคต

ในการสัมมนานักศึกษาแลกเปลี่ยนทั้ง 21 คน ได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนเอง โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย รับฟังผลการดำเนินโครงการวิจัยตลอด 1 เดือนในประเทศไทย ซึ่งในตอนท้ายของการสัมมนาคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้านำโดย Prof. Dr. Kohsuke Honda จาก ICBiotech, Osaka University และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ต่างกล่าวแสดงความยินดี และชื่นชมนักศึกษาที่ประยุกต์ใช้ทั้งองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคที่มีในการทุ่มเททำการวิจัยจนประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น ขอให้นักศึกษาทุกคนมีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นทำการศึกษาวิจัยต่อไป และหวังว่านักศึกษาทุกคนจะเก็บประสบการณ์ รวมถึงรักษามิตรภาพในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้เป็นอย่างดี

ภาพข่าว : https://science.mahidol.ac.th/news/sep65-08-09