คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จากนั้นในวันที่ 9 กันยายน 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดสัมมนา SSSV 2022 Japan-Thailand Student Research Seminar: Bioresources and Biotechnology for Sustainable Development ณ ห้อง L-04 อาคารบรรยายรวม ตึกกลม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกล่าวต้อนรับคณาจารย์และนักศึกษาแลกเปลี่ยนในนามของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลว่า นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาในครั้งนี้ ก่อนกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ Short Stay Short Visit หรือ SSSV ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยโอซาก้าและมหาวิทยาลัย 4 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JASSO เพื่อให้โอกาสแก่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้พักและทำวิจัยระยะสั้นในมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพ ปัจจุบันมีนักเรียนไทย 134 คน และนักเรียนญี่ปุ่น 193 คน เข้าร่วมในโครงการนี้ ซึ่งโครงการนี้ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมการวิจัยระดับนานาชาติ แต่ยังช่วยเพิ่มความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นอีกด้วย และกิจกรรมนี้จะช่วยสร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยโอซาก้าและทีมนักวิจัยในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในปัจจุบันให้มีความเข้มแข็งและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การสร้างความร่วมมือใหม่และมีประสิทธิภาพในอนาคต
ในการสัมมนานักศึกษาแลกเปลี่ยนทั้ง 21 คน ได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนเอง โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย รับฟังผลการดำเนินโครงการวิจัยตลอด 1 เดือนในประเทศไทย ซึ่งในตอนท้ายของการสัมมนาคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้านำโดย Prof. Dr. Kohsuke Honda จาก ICBiotech, Osaka University และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ต่างกล่าวแสดงความยินดี และชื่นชมนักศึกษาที่ประยุกต์ใช้ทั้งองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคที่มีในการทุ่มเททำการวิจัยจนประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น ขอให้นักศึกษาทุกคนมีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นทำการศึกษาวิจัยต่อไป และหวังว่านักศึกษาทุกคนจะเก็บประสบการณ์ รวมถึงรักษามิตรภาพในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข่าวสารโครงการศึกษาวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยโอซาก้า ความร่วมมือทางการวิจัย รวมถึงกิจกรรมอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพที่น่าสนใจได้ทาง https://www.facebook.com/people/MU-OUCRC/100062970072696/
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
และนางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 9 กันยายน 2565