10 สิงหาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยหน่วยพันธกิจพิเศษด้านพัฒนาธุรกิจ หรือ BDU (Business Development Unit) ร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ iNT จัดเสวนาพิเศษ Mahidol Science BDU x iNT ในรูปแบบ Hybrid ทั้งในสถานที่และออนไลน์ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการทำวิจัยและบริการวิชาการให้กับภาคเอกชน การสร้างงานวิจัยสู่นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา และการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) พร้อมเล่าถึงบทบาทของ BDU และ iNT ต่อทิศทางการทำงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัยกับเอกชน โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี กล่าวเปิดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย 4 อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ผู้ทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชน และแวดวงสตาร์ทอัพ อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา หรือ ECDD อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ, รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญารัตน์ พงศ์ทรางกูร อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ, รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤษศาสตร์ มาร่วมพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัยให้กับอาจารย์และนักศึกษาภายในคณะวิทยาศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพาลัคน์ กฤตยาเกียรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
และในโอกาสนี้ คณะผู้บริหารนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้นำ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ iNT และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยการ iNT เข้าเยี่ยมชมพื้นที่อาคาร Venture Club @MUSC และโครงการ SPACE-F ณ อาคารชีววิทยาใหม่ ชั้น 6 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท พร้อมหารือความร่วมมือในการส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพภายในคณะวิทยาศาสตร์หลังจบการเสวนา
ในพิธีเปิดการเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี กล่าวว่า ช่วงเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทุก ๆ คน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์ให้เห็นด้วยว่าโลกนี้ดีขึ้นได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลก็เป็นพื้นฐานที่ช่วยให้วงการการแพทย์และวงการต่าง ๆ เติบโตเกิดเป็นคุณประโยชน์ให้กับส่วนรวม ซึ่งในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคมการบริหารจัดการเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ การจัดการความรู้ต่าง ๆ ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากพันธมิตรและความร่วมมือ คณะวิทยาศาสตร์พร้อมเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมให้กับทุกคน
สำหรับการเสวนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ในช่วงแรกเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวจุดเริ่มต้น ซึ่งนำไปสู่เส้นทางการร่วมงานกับภาคเอกชน ไปจนถึงการจดสิทธิบัตรงานวิจัย ของอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ทั้ง 4 ท่าน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตามความสนใจด้านการวิจัยและความถนัดที่แตกต่างกัน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญารัตน์ พงศ์ทรางกูร อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้จุลินทรีย์โดยเฉพาะกลุ่มแบคทีเรีย ครอบคลุมตั้งแต่การแยกเชื้อจากแหล่งธรรมชาติ พัฒนาวิธีเพาะเลี้ยง ขยายขนาดการผลิตจนสามารถนำไปใช้งานในเชิงการเกษตร บำบัดทางชีวภาพโดยย่อยสลายสารพิษในอุตสาหกรรม ผลิตเอนไซม์ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ได้ มีจุดเริ่มต้นจากการนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีการประชุมวิชาการต่าง ๆ เมื่อภาคเอกชนเห็นผลงานจึงติดต่อเข้ามาเพื่อขอคำปรึกษาเชิงวิชาการและเชิงเทคนิค ซึ่งบางปัญหาต้องอาศัยการทำวิจัยเพื่อหาทางออก จึงนำไปสู่การทำวิจัยร่วมกันซึ่งช่วยเปิดมุมมองในการทำวิจัยได้อย่างมาก และสำหรับผู้ที่จะเริ่มทำงานวิจัยกับภาคเอกชน รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญารัตน์ แนะนำว่าควรจะพูคคุยเงื่อนไขและความต้องการของภาคเอกชน อาจารย์ และนักศึกษาผู้วิจัยให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเพื่อประโยชน์กับทุกฝ่าย
ด้าน อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา หรือ ECDD และอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเซลล์เทคโนโลยี เริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายในการวิจัยคือ “สร้างยา สร้างชาติ” มุ่งพัฒนายาจากทรัพยากรที่มีอยู่โดยผลักดัน “สมุนไพรไทย ไปสู่ระดับโลก” ด้วยการมองสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการและสร้างสิ่งที่สิ่งเสริมระบบ แล้วนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสนับสนุนระบบการผลิตยาให้ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และได้เสนอโครงการขอทุนเพื่อจัดตั้งแพลตฟอร์มค้นหาตัวยามาตรฐานสากลที่รองรับการผลิตของผู้ประกอบการ นำไปสู่การค้นพบสารสกัดสมุนไพรหลายชนิดที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยา เช่น กระชายขาว ซึ่งได้จดสิทธิบัตร และตีพิมพ์ผลงานวิจัยในเวลาต่อมา โดย อาจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ ได้กล่าวเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรและการวิจัยว่า เป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน และในการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมการวิเคราะห์ข้อมูลสิทธิบัตรก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เราวางกลยุทธ์ด้านการวิจัยและพัฒนาในธุรกิจได้อีกด้วย
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตโซล่าเซลล์เพอรอฟสไกต์และฟิลม์ลดความร้อน ซึ่งเริ่มต้นทำงานวิจัยกับรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนด้านพลังงาน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ SCG ได้แบ่งปันประสบการณ์ทำงานกับภาคเอกชนว่า สิ่งที่ทางเอกชนต้องการคือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของบริษัท ซึ่งส่วนมากบริษัทมักจะรับบริการวิชาการจากนักวิจัยที่เคยร่วมงานด้วย หรืออาศัยคำแนะนำจากพันธมิตร ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักนำเสนอความเชี่ยวชาญและผลงานของเรา สร้างเครือข่ายวิจัย มีทีมเวิร์คที่ดี และทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อบริษัทได้รับบริการที่ดีจากเรา ก็จะกลับมาใช้บริการอีกในอนาคต สำหรับการจดสิทธิบัตร ทรัพย์สินทางปัญญา รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร ชี้ว่ามีลักษณะการเขียนที่แตกต่างจากการเขียนผลงานวิจัย เนื่องจากเป็นการเขียนเชิงกฎหมาย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถขอคำปรึกษาจาก iNT ได้
ส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤษศาสตร์ เล่าว่าในอดีตได้รับการติดต่อจากทีมแพทย์ที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภูมิแพ้ละอองเรณู ซึ่งยังคงมีการศึกษาวิจัยน้อย นำไปสู่การสำรวจเก็บตัวอย่างละอองเรณูและคิดค้นวิธีการสกัดผงเรณูเพื่อนำมาผลิตน้ำยาสะกิดผิวหนังทดสอบภูมิแพ้ เป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้เรื่องการจดสิทธิบัตรและได้ร่วมงานกับภาคเอกชนโดยดำเนินการผ่าน BDU จากนั้นจึงเริ่มเข้าร่วมโครงการเพื่อนำเสนอไอเดียตามเวทีต่าง ๆ ซึ่งเปิดมุมมองให้รู้ว่าองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์สามารถนำมาแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนได้เป็นจำนวนมาก นำมาสู่การจัดตั้งหน่วย Green Solution ของภาควิชาพฤกษศาสตร์ รวมถึงการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 2 และร่วมก่อตั้งบริษัท Advanced GreenFarm พัฒนาเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยงผำและจดสิทธิบัตรงานวิจัยในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ได้กล่าวเสริมเกี่ยวกับสิทธิบัตรงานวิจัยว่า เปรียบเสมือนคลังความรู้ที่มีความสำคัญไม่แพ้ผลงานวิจัยตีพิมพ์ แม้งานวิจัยยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็สามารถยื่นจดสิทธิบัตรได้ และการจดสิทธิบัตรงานวิจัยสามารถก็เพิ่มโอกาสในการวิจัยของเรามากขึ้นด้วย เนื่องจากบริษัทเอกชนมักจะคุ้นเคยกับการสืบค้นสิทธิบัตรมากกว่างานวิจัย นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการว่า นักวิทยาศาสตร์ มีความรู้ลึก รู้จริงในความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งหากเรามองเห็นปัญหา วิธีการแก้ไข อยากสร้างบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเอง หากคิดมาดีและตัดสินใจจะเริ่มแล้ว ช่วงเวลานั้นคือช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการลงมือทำ หากปล่อยให้ล่าช้าออกไปปัญหานั้นอาจจะได้รับการแก้ไข หรือเทคโนโลยีอาจจะตกยุคไปแล้วนั่นเอง
และในการเสวนาช่วงที่สอง รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ได้กล่าวว่าการสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องของ Creative muscle ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ ผ่านขั้นตอนการวิจัยแก้ไขปัญหาที่เราสนใจ สร้างเป็นองค์ความรู้ ให้บริการวิชาการ หรือ พัฒนาเป็นสิ่งประดิษฐ์ จากนั้นจึงต่อยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรม พร้อมแนะนำขั้นตอนการ 7 ขั้นตอนอย่างง่ายในการตั้งบริษัทสตาร์ทอัพของตนเอง เริ่มตั้งแต่เลือกประเด็นปัญหาที่เราต้องการแก้ไข หาคนมาร่วมทีม ร่วมกันคิดเชิงออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะนำไปสู่การจดสิทธิบัตร หรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จัดตั้งบริษัท และหาเงินทุนสนับสนุนต่อไป ซึ่ง iNT มีบทบาทในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรมและเติบโตเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตนเอง โดยช่วยเสริมสร้าง Soft skills และ Growth mindset ผ่านโครงการต่าง ๆ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการความรู้ จัดหาเครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวก และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสำหรับให้คำปรึกษา ประสานงาน สร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือ รวมทั้งให้สนับสนุนเงินทุน เป็นต้น
ปิดท้ายด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี ซึ่งได้กล่าวเชิญชวนอาจารย์และนักศึกษามาสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชน โดย BDU พร้อมต้อนรับและให้ความช่วยเหลือทุกท่าน
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจติดตามข่าวสาร การเสวนา และบริการต่าง ๆ ของ BDU ได้ที่ https://www.facebook.com/muscsynergy
และเว็บไซต์ science.mahidol.ac.th/muscsynergy สำหรับผู้ที่ต้องการรับฟังการเสวนาย้อนหลังสามารถรับชมได้ทาง https://fb.watch/eOR1W6xzI0/