19 กรกฎาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานรำลึกครบรอบ 103 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข หรืออาจารย์สตางค์ ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย โดยมีคณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ ทายาทศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้เกษียณอายุงาน ผู้บริหารสมาคมศิษย์เก่า สภาอาจารย์ บุคลากร นักศึกษาจากหน่วยงานภายในคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมใจร่วมวางพวงมาลัยสักการะรูปหล่อ ทำบุญทักษิณานุปทาน อุทิศส่วนกุศลแด่ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และบุรพชนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถวายเครื่องไทยธรรม และถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์จากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร จำนวน 10 รูป พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบรางวัล Mahidol Science Innovative Educator Award 2022 และรางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2022 ยกย่อง 3 องค์กร 3 บุคคลต้นแบบ และ 1 โครงการโดยนักศึกษาผู้ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน สานต่อปณิธานการใช้วิทยาศาสตร์พื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการจัดการศึกษาพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติของ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข
รางวัล Mahidol Science Environment & Sustainability Award 2022 เป็นรางวัลเชิดชูเกียรติที่มอบให้กับองค์กร และบุคคลที่มีผลงานเด่นด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนและได้รับการยอมรับในระดับประเทศ
โดยในพิธีมอบรางวัล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกรางวัล ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี ประธานกรรมการคัดเลือกรางวัล ได้ให้เกียรติมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลประเภทองค์กร ได้แก่ 2 องค์กรอนุรักษ์ความหลากหลายของพืชและสัตว์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากร อนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืชและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์กับมหาชนชาวไทย โดยศึกษาวิจัย และสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืชและทรัพยากร รวมถึงจัดให้มีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชและทรัพยากรที่เชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วประเทศ
และองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ทำการอนุรักษ์วิจัยสัตว์ทั้งในถิ่นและนอกถิ่นอาศัย เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่นโครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ในปีงบประมาณ 2562 ที่ทำให้นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติสามารถขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ สามารถปรับสถานภาพจากสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย (Extinct in the wild: EW) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง (Critically endangered: CR) ได้สำเร็จ โดยดึงชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เพิ่มความเข้าใจด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ถูกต้อง ลดผลกระทบที่อาจเกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ พร้อมสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์ ผ่านการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการทำเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ขณะที่รางวัลประเภทบุคคลมอบให้กับบุคคลต้นแบบ 2 ท่านด้วยกัน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ผู้พัฒนา Scrap Lab หรือ ศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกๆ ของโลก ที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และผลักดันนวัตกรรมอัพไซเคิล (Upcycle) เพื่อเป็นฐานสำหรับ Circular Economy โดยนำของเหลือใช้ที่เกิดจากการก่อสร้าง จากการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และจากชุมชน รวมทั้งสถานพยาบาล ผ่านงานวิจัยและการเรียนการสอน มาพัฒนาเพิ่มมูลค่าด้วยกระบวนการ Upcycling และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยและงานต้นแบบอัพไซเคิลต่าง ๆ ของศูนย์ปฏิบัติการฯ และศูนย์วิจัยฯ สู่การใช้งานจริงในงานสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง รวมถึงให้ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้นต่อสังคมวงกว้างและองค์กรต่าง ๆ โดยมุ่งเป้าไปที่การยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่ความยั่งยืนด้วยการผสานศาสตร์และศิลป์
และ Prof. Dr. Shabbir Gheewala จาก The Joint Graduate School of Energy and Environment, King Mongkut’s University of Technology Thonburi ผู้ดำเนินโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพของทรัพยากร การบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน อันมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของทรัพยากรและการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมถึงกรอบนโยบายการผลิตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)
ส่วนประเภทโครงการนักเรียน นิสิต นักศึกษา มอบให้กับโครงการการลดปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเกิดไฟป่าในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน โดยการเข้าถึงเด็กและ ชุมชนบ้านก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน ผลงานจาก ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเสนอเรื่องความสัมพันธ์ของฝุ่น PM2.5 ในชุมชนกับการใช้ทรัพยากรป่าไม้ในรูปแบบการ์ตูนให้เด็ก ๆ ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้เรียนรู้ถึงที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนและความสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของคนในชุมชนสามารถกระตุ้นได้โดยผ่านเด็กนักเรียนในชุมชนไปยังผู้ปกครอง