ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ศูนย์ MUSC-STEM EDUCATION (MUSC-Science Technology Engineering and Mathematics Education : MUSC-STEM) ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ Euro-Asia Collaboration for Enhancing STEM Education (EASTEM) โดยได้รับทุนสนับสนุนงบจาก Erusmus+ Programme ประกอบด้วย เครือข่ายความร่วมมือจาก 15 สถาบัน ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านสะเต็มศึกษา ทั้งในยุโรป (สวีเดน ลิทัวเนีย และฝรั่งเศส) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย) โดยมีมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน เป็นสถาบันหลักของเครือข่าย สำหรับประเทศไทยเรามีเครือข่ายที่เข้มแข็งจาก 3 มหาวิทยาลัยที่ร่วมมือกัน คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศูนย์ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ศูนย์ภาคใต้) และ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศูนย์ภาคกลาง) โดยที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้สนับสนุนให้คณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ประสานงานหลักในนามของมหาวิทยาลัย ซึ่งในงานเปิดตัวศูนย์ฯ วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้เป็นประธานในพิธี มีผู้แทนจากสถาบันเครือข่ายฯ ในโครงการ EASTEM จาก 4 ประเทศ รวม 11 สถาบัน ได้ให้เกียรติมาร่วมชมการเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษาในครั้งนี้ด้วย
จุดประสงค์ของศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา (MUSC-STEM) ในอีกชื่อหนึ่งว่า “โครงการเสริมสร้างความรู้และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เป็นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ใหม่และต่อยอดกระบวนการจัดการศึกษา ที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยเป็นการเชื่อมโยงและแก้ปัญหาในชีวิตจริงและการประกอบอาชีพในอนาคต ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคดิสรัปชั่นที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วยศูนย์ประสานงานฯ และห้องเรียนสะเต็ม ตั้งอยู่ ณ ชั้น 1 อาคารวิทยาศาสตร์ 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา ทั้งชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ไอที และวิศวกรรมศาสตร์ ที่มีประสบการณ์ด้านสะเต็มศึกษา
ระหว่างปีงบประมาณ 2562 การจัดกิจกรรมใช้ชื่อว่า โครงการเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ได้จัดกิจกรรมให้กับโรงเรียนอนุบาล 1 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษา 16 แห่ง และสถาบันกวดวิชา 1 แห่ง โดยมีนักเรียนเข้ารวมมากกว่า 2,138 คน โดยนักเรียนเหล่านี้เมื่อกลับไปยังสถานศึกษา ได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้งานต่อยอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพในยุคไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ก้าวไกลและมีคุณภาพ ในอนาคต