โครงการผลิตสารต้าน COVID-19 ในกระชายขาว
https://science.mahidol.ac.th/th/activity/jun63-1.php
การวิจัยชิ้นนี้เป็นความร่วมมือร่วมกันของ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เผยพบสารต้าน COVID-19 ในกระชายขาว เล็งต่อยอดผลิตยารักษาในงานแถลงข่าวและเสวนา “ประสิทธิภาพของกระชายขาวต้าน COVID-19” โดยมี รองศาสตราจารย์ นพ.ธันย์ สุภัทรพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศาสตราจารย์ นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๑๐:๐๐ – ๑๑:๓๐ น. ณ ห้องประชุม K๑๐๒ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งในโอกาสอันดีนี้มีแขกผู้มีเกียรติ อาทิ นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ และคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมเสวนาแสดงความยินดี รวมถึงสื่อมวลชนร่วมงานแถลงข่าวจำนวนมาก
คณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผนึกกำลังตั้ง COVID-19 Research Cluster โดยแบ่งเป็น ๕ กลุ่มงานวิจัยหลัก ซึ่ง ๑ ใน ๕ กลุ่มงานวิจัยคือ Drug Discovery หรือการค้นหาพัฒนายาใหม่ร่วมกับกลุ่มงานวิจัยด้าน Serology and Plasma Therapy ทำการระดมนักวิจัยและดึงสรรพกำลังด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ที่มีระบบปฏิบัติการตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับที่ ๓ (Bio Safety Level 3; BSL-3) นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ผู้มีความเชี่ยวชาญในการคัดแยกและเพาะเลี้ยงไวรัส SARS-CoV-2 และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา หรือ ECDD (Excellence Center for Drug Discovery) ซึ่งเป็นแหล่งคลังจัดเก็บสารสกัดสมุนไพร และดำเนินการด้วยเทคโนโลยี High-Throughput Screening (HTS) ซึ่งมีศักยภาพในการคัดกรองสารออกฤทธิ์พร้อมกันจำนวนมาก ๆ ภายในระยะเวลารวดเร็ว นำทีมโดย ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ สร้าง platform การตรวจวิเคราะห์หาสารออกฤทธิ์จากสารสกัดธรรมชาติ รวมถึงสมุนไพรไทยที่ใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวันที่มีฤทธิ์ต่อ SARS-CoV-2 โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก มูลนิธิรามาธิบดี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ที่มีเป้าหมายร่วมกันในระยะยาวในการสร้างโอกาส ต่อยอดความเข้มแข็งของประเทศที่มีอยู่ในช่วงสถานการณ์วิกฤตการระบาด COVID-19 เพื่อค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาและนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนายาในขั้นต่อไป
จากการตรวจคัดกรองสารสกัดในคลังซึ่งเป็นสมุนไพรไทยจำนวนกว่า ๑๒๐ ตัวอย่าง พบสารสกัดจำนวน ๖ ชนิด ที่มีศักยภาพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ SARS-CoV-2 ที่ให้ผลในการยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสได้ ๑๐๐% ที่ปริมาณความเข้มข้นของยาในระดับน้อย ๆ และไม่เป็นพิษต่อเซลล์ ซึ่งผลดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบเทียบเคียงกับผลการยับยั้งของ FDA approved drugs ได้แก่ ยา Niclosamide และยา Hydroxychloroquine แล้ว นอกจากนี้ทีมวิจัยได้ทำการคัดเลือกมา ๒ สาร จากจำนวน ๖ สาร ดังกล่าว คือ ขิง และกระชายขาว มาทำการตรวจวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงกลไกระดับเซลล์ต่อ และมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับ TCELS มีความพร้อมที่จะขยายผลการศึกษาประสิทธิภาพของ “กระชายขาว” ซึ่งให้ผลการยับยั้งดีที่สุดมาพัฒนาต่อให้สามารถเข้าสู่ clinical trial โดยในส่วนของ early phase clinical trial จะทำในโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นหลัก และขยายความร่วมมือออกไปในส่วนของ phase II และ III ในลักษณะของ multicenter study ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาที่เป็น Modernized Thai Traditional Medicine ได้
ทั้งนี้ จุดตั้งต้นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ TCELS ในการจัดตั้งและร่วมบริหารจัดการ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา” หรือ “Excellent Center for Drug Discovery: ECDD” มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับงานวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรคในระดับโมเลกุลภายในเซลล์และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนสร้างเครือข่ายและมีคลังจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพโดยมีการรวบรวมสารสังเคราะห์และสารสกัดจากธรรมชาติจากทั่วประเทศไทย มีกระบวนการทำงานที่ได้มาตรฐานในระดับสากลคือ ISO9001:2015 และอยู่ระหว่างเตรียมขอรับรองมาตรฐาน ISO17025 และ OECD GLP ในลำดับถัดไป นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยสามารถค้นหาสารสำคัญทางยา และนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนายาในขั้นต่อไป