25 พฤศจิกายน 2565 สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยหน่วยพัฒนาธุรกิจ (Business Development Unit : BDU) งานพันธกิจพิเศษ จัดกิจกรรม DEMO DAY for Mahidol Pre-incubation Program for SPACE-F เปิดเวที Pitching ให้กับทีม Food Tech Startup หน้าใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ประชันไอเดียและนวัตกรรมอาหารสุดล้ำภายใต้โครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข
Mahidol Pre-incubation for SPACE-F เป็นโครงการบ่มเพาะทีม Startup ที่มาจากการรวมตัวของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการติวเข้มในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์และตลาด การจัดทำแบบจำลองธุรกิจและแผนพัฒนาธุรกิจ รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ Workshop ต่าง ๆ รวมถึงให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในวงการ Food Tech Startup เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน เพื่อส่งเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) รวมถึงส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของนวัตกร (Startup Ecosystem) ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้เกิด Startup ในรั้วมหาวิทยาลัย และเตรียมความพร้อมสำหรับ Startup ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ซึ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารใน 9 ประเด็น ได้แก่ Health & Wellness, Alternative proteins, Novel food & Ingredients, Packaging solutions, Biomaterials & Chemicals, Packaging solutions, Smart Manufacturing, Restaurant Tech, Food safety & Quality และ Smart food services
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวเปิดกิจกรรมและเป็นกรรมการในการ Pitching โดยกล่าวขอบคุณทีมงานที่ทำให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้น และแสดงความยินดีกับทีม Startup ที่ร่วมโครงการจนเดินทางมาถึง Demo Day พร้อมให้กำลังใจรวมถึงแนวคิดในการพัฒนาและมองหาโอกาสในการทำให้ความฝันในการสร้างนวัตกรรมเป็นจริง และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการสร้างความร่วมมือซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านอาหารได้ในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกล่าวต้อนรับทีม Startup และขอบคุณหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ พร้อมเล่าถึงความตั้งใจของคณะวิทยาศาสตร์ในการผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สร้างผลกระทบได้จริง ด้วยการถ่ายทอดความรู้ สร้างแรงบันดาลใจกับนักศึกษา และอาจารย์ ในการทำให้โลกดีขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ ให้คำแนะนำ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่นักศึกษาในการเรียนรู้ที่จะล้มเหลวและลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมเป็นกรรมการในการ Pitching และกล่าวปิดกิจกรรมโดยชื่นชมและให้คำแนะนำทีม Startup เกี่ยวกับความสำคัญของการสร้างทีมให้มีความเป็นเป็นสหสาขาวิชาชีพซึ่งจะช่วยให้แผนธุรกิจของทีมมีความแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมแนะนำโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเริ่มต้นสำหรับนักศึกษา อาทิ TED Youth Startup Fund เป็นต้น
และ Dr. Chris Aurand, Open Innovation Leader, Thai Union Group PCL ร่วมเป็นกรรมการในการ Pitching และกล่าวปิดท้ายกิจกรรม โดยแสดงความยินดีกับทุกทีมที่เข้าร่วมกิจกรรม และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนวงการ Food Tech Startup ในประเทศไทย พร้อมประชาสัมพันธ์เชิญชวนร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 อีกด้วย
ในการนำเสนอผลงานมีทีม Startup นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน 8 ทีม จาก 12 ทีม ในโครงการฯ ร่วมนำเสนอไอเดียและนวัตกรรมอาหารในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
• ทีม B-OTech – ตู้กดอาหารปรุงสด จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ทีม RESET – อาหารเสริมกระตุ้นการสร้างโปรตีน ทำให้ตื่นตัวจากความเหนื่อยล้า จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ทีม Wholesome Lab – บรรจุภัณฑ์อาหารและช้อนส้อมที่สามารถกินได้ จากสาขาวิชาชีวนวัตกรรม (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ทีม Last Chance: Space Food จากสาขาวิชาชีวนวัตกรรม (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ทีม Brainstormers – กล่องตรวจแบคทีเรียในตัวอย่างอาหาร จากสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ทีม Power Puff Girl – โปรตีนทางเลือกจากยีสต์ จากสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ทีม NutriCious – เครื่องดื่มไข่ขาวโปรตีนสูงแบบพร้อมดื่ม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
• ทีม กายชนะ – แอปพลิเคชันสำหรับออกแบบวิธีการดูแลสุขภาพ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับผลการ Pitching ทีม Startup ที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองก็คือ ทีม NutriCious – เครื่องดื่มไข่ขาวโปรตีนสูงแบบพร้อมดื่ม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์, ตามมาด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม RESET – อาหารเสริมกระตุ้นการสร้างโปรตีน ทำให้ตื่นตัวจากความเหนื่อยล้า และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Power Puff Girl – โปรตีนทางเลือกจากยีสต์ จากคณะวิทยาศาสตร์ และมีรางวัลพิเศษ คือ ทีมกายชนะ : Application สำหรับออกแบบวิธีการดูแลสุขภาพ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาร่วมกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้สิทธิ์เข้าไปสู่การพิจารณาเข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ซึ่งจะเปิดรับสมัครในช่วงปลายปีนี้ต่อไป
โดยโครงการ SPACE-F นั้นเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของ Startup ด้านเทคโนโลยีอาหารแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อช่วยให้Startupเดินหน้าพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ทั้งในแง่การพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาด ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก โดยผ่านหลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการ และหลักสูตรเร่งการเติบโตทางธุรกิจ ก่อตั้งโดยความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแนวหน้าระดับโลก มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรวงการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและบริษัทให้คำปรึกษาในระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ SPACE-F สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครเข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ได้ที่ https://www.space-f.co