สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวที pitching ประชันไอเดียและนวัตกรรมอาหารสุดล้ำในงาน DEMO DAY for Mahidol Pre-incubation Program for SPACE-F

Activity photo
25 พฤศจิกายน 2565 สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยหน่วยพัฒนาธุรกิจ (Business Development Unit : BDU) งานพันธกิจพิเศษ จัดกิจกรรม DEMO DAY for Mahidol Pre-incubation Program for SPACE-F เปิดเวที Pitching ให้กับทีม Food Tech Startup หน้าใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ประชันไอเดียและนวัตกรรมอาหารสุดล้ำภายใต้โครงการ Mahidol Pre-incubation for SPACE-F ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข
Mahidol Pre-incubation for SPACE-F เป็นโครงการบ่มเพาะทีม Startup ที่มาจากการรวมตัวของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการติวเข้มในด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์และตลาด การจัดทำแบบจำลองธุรกิจและแผนพัฒนาธุรกิจ รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการในยุคปัจจุบัน ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ Workshop ต่าง ๆ รวมถึงให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในวงการ Food Tech Startup เป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน เพื่อส่งเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) รวมถึงส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของนวัตกร (Startup Ecosystem) ซึ่งช่วยขับเคลื่อนให้เกิด Startup ในรั้วมหาวิทยาลัย และเตรียมความพร้อมสำหรับ Startup ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ซึ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารใน 9 ประเด็น ได้แก่ Health & Wellness, Alternative proteins, Novel food & Ingredients, Packaging solutions, Biomaterials & Chemicals, Packaging solutions, Smart Manufacturing, Restaurant Tech, Food safety & Quality และ Smart food services
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวเปิดกิจกรรมและเป็นกรรมการในการ Pitching โดยกล่าวขอบคุณทีมงานที่ทำให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้น และแสดงความยินดีกับทีม Startup ที่ร่วมโครงการจนเดินทางมาถึง Demo Day พร้อมให้กำลังใจรวมถึงแนวคิดในการพัฒนาและมองหาโอกาสในการทำให้ความฝันในการสร้างนวัตกรรมเป็นจริง และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการสร้างความร่วมมือซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านอาหารได้ในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกล่าวต้อนรับทีม Startup และขอบคุณหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ พร้อมเล่าถึงความตั้งใจของคณะวิทยาศาสตร์ในการผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สร้างผลกระทบได้จริง ด้วยการถ่ายทอดความรู้ สร้างแรงบันดาลใจกับนักศึกษา และอาจารย์ ในการทำให้โลกดีขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ ให้คำแนะนำ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่นักศึกษาในการเรียนรู้ที่จะล้มเหลวและลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมเป็นกรรมการในการ Pitching และกล่าวปิดกิจกรรมโดยชื่นชมและให้คำแนะนำทีม Startup เกี่ยวกับความสำคัญของการสร้างทีมให้มีความเป็นเป็นสหสาขาวิชาชีพซึ่งจะช่วยให้แผนธุรกิจของทีมมีความแข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมแนะนำโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการเริ่มต้นสำหรับนักศึกษา อาทิ TED Youth Startup Fund เป็นต้น
และ Dr. Chris Aurand, Open Innovation Leader, Thai Union Group PCL ร่วมเป็นกรรมการในการ Pitching และกล่าวปิดท้ายกิจกรรม โดยแสดงความยินดีกับทุกทีมที่เข้าร่วมกิจกรรม และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนวงการ Food Tech Startup ในประเทศไทย พร้อมประชาสัมพันธ์เชิญชวนร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 อีกด้วย
ในการนำเสนอผลงานมีทีม Startup นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวน 8 ทีม จาก 12 ทีม ในโครงการฯ ร่วมนำเสนอไอเดียและนวัตกรรมอาหารในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

• ทีม B-OTech – ตู้กดอาหารปรุงสด จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• ทีม RESET – อาหารเสริมกระตุ้นการสร้างโปรตีน ทำให้ตื่นตัวจากความเหนื่อยล้า จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• ทีม Wholesome Lab – บรรจุภัณฑ์อาหารและช้อนส้อมที่สามารถกินได้ จากสาขาวิชาชีวนวัตกรรม (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• ทีม Last Chance: Space Food จากสาขาวิชาชีวนวัตกรรม (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• ทีม Brainstormers – กล่องตรวจแบคทีเรียในตัวอย่างอาหาร จากสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• ทีม Power Puff Girl – โปรตีนทางเลือกจากยีสต์ จากสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน (นานาชาติ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• ทีม NutriCious – เครื่องดื่มไข่ขาวโปรตีนสูงแบบพร้อมดื่ม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

• ทีม กายชนะ – แอปพลิเคชันสำหรับออกแบบวิธีการดูแลสุขภาพ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับผลการ Pitching ทีม Startup ที่คว้ารางวัลชนะเลิศไปครองก็คือ ทีม NutriCious – เครื่องดื่มไข่ขาวโปรตีนสูงแบบพร้อมดื่ม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์, ตามมาด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีม RESET – อาหารเสริมกระตุ้นการสร้างโปรตีน ทำให้ตื่นตัวจากความเหนื่อยล้า และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ทีม Power Puff Girl – โปรตีนทางเลือกจากยีสต์ จากคณะวิทยาศาสตร์ และมีรางวัลพิเศษ คือ ทีมกายชนะ : Application สำหรับออกแบบวิธีการดูแลสุขภาพ จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาร่วมกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้สิทธิ์เข้าไปสู่การพิจารณาเข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ซึ่งจะเปิดรับสมัครในช่วงปลายปีนี้ต่อไป

โดยโครงการ SPACE-F นั้นเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของ Startup ด้านเทคโนโลยีอาหารแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อช่วยให้Startupเดินหน้าพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ทั้งในแง่การพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาด ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก โดยผ่านหลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการ และหลักสูตรเร่งการเติบโตทางธุรกิจ ก่อตั้งโดยความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแนวหน้าระดับโลก มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรวงการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและบริษัทให้คำปรึกษาในระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ SPACE-F สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครเข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ได้ที่ https://www.space-f.co/

Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช,
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565