logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเปิดตัว Startup หน้าใหม่ในโครงการ SPACE-F Batch 3 จับมือพันธมิตรขับเคลื่อนนวัตกรรม FoodTech ระดับโลก

21 มีนาคม 2565 มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), Mr. Ludovic Garnier, Group Chief Financial Officer จาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), Mr. Jean Lebreton, Senior Vice President จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ Mr. Bart Bellers, CEO จาก Xpdite ร่วมงานเปิดตัว SPACE-F Batch 3 โครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รุ่นที่ 3 ณ C Asean Ratchada

โครงการ SPCAE-F เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแนวหน้าระดับโลก และมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรวงการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารและบริษัทให้คำปรึกษาในระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), Deloitte, Xpdite ในเวลาต่อมา เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก ผ่านหลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการ และหลักสูตรเร่งการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก โดยมีเป้าหมายคือช่วยพัฒนาและจดสิทธิบัตรต้นแบบที่ตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลของสตาร์ทอัพแต่ละราย อีกทั้งยังเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial ecosystem) ในมหาวิทยาลัย สร้างโอกาสและการเรียนรู้ของนักศึกษาในการเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ (Startup) ของประเทศได้

ในปีนี้ SPACE-F ได้เริ่มโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยมีทีมสตาร์ทอัพเข้าร่วมโครงการกว่า 18 ราย จากประเทศไทย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ฮ่องกง และ โปแลนด์ แบ่งตามหลักสูตร ดังนี้

หลักสูตรเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Accelerator program)
– WeavAir
– Nabsolute
– EniferBio
– Potent Fungi
– Mi Terro
– EnerGaia
– More Meat
– Jamulogy
– Kinnva

หลักสูตรบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Incubator program)
– Phagos
– Balance Corp
– Kokoonic
– MakeGrowLab
– MUU
– POWCO
– Tasted Better
– Pet Dynamic
– Mercy Foie Gras

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/mar65-21