25 กรกฎาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) สานต่อความร่วมมือด้านวิชาการและการศึกษากับสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา (Xishuangbanna Tropical Botanical Garden: XTBG) และสถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Biodiversity Research Institute: SEABRI) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินหน้าวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ในโอกาสนี้ ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ หยกทองวัฒนา รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนานักศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชีรา วิบูลย์จันทร์ หัวหน้าภาควิชาพฤกษศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลิตา คงฤทธิ์ รองหัวหน้าภาควิชาชีววิทยา และคณาจารย์ ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากทั้ง 2 สถาบันซึ่งเป็นสถาบันภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Science: CAS) นำโดย Professor Dr. Yongping Yang, Director และ Professor Dr. Ruichang Quan, Deputy Director General จาก Xishuangbanna Tropical Botanical Garden และ Associate Professor Dr. Ren Li, Office Head จาก Southeast Asia Biodiversity Research Institute Chinese Academy of Sciences พร้อมลงนามบันทึกความเข้าใจ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี และ Professor Dr. Yongping Yang เป็นผู้ลงนาม ต่อด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อการศึกษาวิจัยที่มีความสนใจร่วมกันเพื่อยกระดับความร่วมมือภายใต้ MOU ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ (K101)
ในการหารือ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย จิรัฏฐิติกุล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความร่วมมือทางวิชาการกับสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา ได้นำเสนอภาพรวมของกิจกรรมความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบัน ที่ได้ดำเนินการภายใต้ MOU ที่ลงนามสถาปนาความร่วมมือกันครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2561 อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนระยะสั้นสำหรับนักศึกษาและบุคลากร โครงการวิจัยและผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ร่วมกัน กิจกรรมสัมมนาวิชาการ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านวิชาการ เป็นต้น และรองศาสตราจารย์ ดร.อลิสา สจ๊วต จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยผู้ร่วมงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้นำเสนอความเชี่ยวชาญและงานวิจัยของคณาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ก่อนนำผู้แทนจากทั้ง 2 สถาบัน เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา และรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery: ECDD) ที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาตัวยาและผลิตเวชภัณฑ์ยาจากพืชและสมุนไพรทางการแพทย์ โดยผู้อำนวยการศูนย์ฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ และนักวิจัยประจำศูนย์ฯ ดร. ณิชกานต์ สมัยนุกุล เป็นการปิดท้าย
ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา เริ่มมีความร่วมมือทางด้านการวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จากนั้นจึงมีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2561 การลงนามขยายระยะเวลาความร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 2 สถาบัน ในครั้งนี้ จึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันวิจัยของจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและต่อยอดความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยระหว่างสถาบันในภูมิภาคเอเชีย ที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนารากฐานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และจัดการกับความท้าทายระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต