logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทย์ ม.มหิดล เดินหน้าหารือ University of Technology Sydney (UTS) เครือรัฐออสเตรเลีย สร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน

8 พฤศจิกายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และคณาจารย์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย และ อาจารย์ ดร.ฒนันท์ วาริทนันท์ ให้การต้อนรับ 2 ผู้แทนจาก University of Technology Sydney (UTS) นำโดย Distinguished Professor Dr. Alaina Ammit , Associate Dean (Research), Faculty of Science และ Mr. Innes Ireland , Deputy Director, UTS International พร้อมแนะนำหน่วยงาน และพูดคุยเกี่ยวกับความสนใจของทั้งสองสถาบันเพื่อหาจุดร่วมปูทางสู่ ความร่วมมือในอนาคต ในด้านวิชาการ กิจการนักศึกษา การวิจัย การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร รวมถึงการก่อตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาซึ่งกำกับดูแลร่วมกันระหว่างทั้งสองสถาบัน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กำจร มนุญปิจุ (K101)

University of Technology Sydney (UTS) เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชั้นนำในเครือรัฐออสเตรเลีย ที่เปิดสอนครอบคลุมหลายสาขา เช่น สถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม การบริหารธุรกิจ การสื่อสาร การออกแบบ การศึกษา วิศวกรรม สารสนเทศและการสื่อสาร รัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ เภสัชศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์ในการ พัฒนาองค์ความรู้และการเรียนรู้ผ่านการสอนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการวิจัยที่มีผลกระทบ สร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม วิชาชีพ และชุมชน ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งสู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสาธารณะชั้นนำที่ได้รับการยอมรับจากการสร้างผลกระทบระดับโลก ซึ่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับโดย QS World University Rankings ให้อยู่ในกลุ่ม มหาวิทยาลัย 100 อันดับแรกของโลก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในการหารือ รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ และคณาจารย์ กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ได้นำเสนอ ภาพรวมของกลุ่มสาขาวิชา ซึ่งมีหลักสูตรที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีนานาชาติ (SIM) สาขา วัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน และ หลักสูตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชา วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ (หลักสูตรนานาชาติ) โดยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษา งานวิจัย และนวัตกรรมระดับนานาชาติเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางด้านวัสดุและนาโนเทคโนโลยี เช่น วัสดุจากธรรมชาติ นาโนเทคโนโลยีชีวภาพและชีววัสดุระดับนาโน วัสดุขั้นสูง วัสดุพลังงาน วัสดุทางการแพทย์ โพลิเมอร์เชิงก้าวหน้า วัสดุที่ทำปฏิกิริยากับแสงได้ดี โฟโตนิกส์ และอื่น ๆ พร้อมนำเสนอความเชี่ยวชาญและผลงานวิจัยของคณาจารย์และนักศึกษา ซึ่งร่วมกับภาครัฐและภาพเอกชนสร้างองค์ความรู้ใหม่จากการวิจัย จดสิทธิบัตรนวัตกรรมงานวิจัย ต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โครงการสตาร์ทอัพ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทต่าง ๆ มาแล้วมากมาย

จากนั้นจึงนำผู้แทนจาก University of Technology Sydney (UTS) เยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการหน่วยเครื่องมือกลาง ห้องปฏิบัติการกลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ( Center of Excellence in Medical Biotechnology: CEMB ) ซึ่งทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตตัวยาชีววัตถุใหม่สำหรับการรักษา และชุดตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา ( Excellent Center for Drug Discovery: ECDD ) ที่ทำการวิจัยเกี่ยวข้องกับการค้นหาตัวยาและผลิตเวชภัณฑ์ยาจากพืชและสมุนไพรทางการแพทย์ รวมถึงศึกษากลไกการเกิดโรคด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐาน ISO โดยมีผู้อำนวยการศูนย์ฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ เล่าถึงงานวิจัยที่ดำเนินการอยู่ ปิดท้ายด้วยห้องปฏิบัติการปลาม้าลาย และห้องปฏิบัติการทางพยาธิวิทยา โดยมีหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา ดร.นิวัฒน์ กังวานรังสรรค์ และประธานหลักสูตรชีววิทยาการแพทย์ ดร. นิศามณี เจริญชนม์ ให้การต้อนรับ

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/nov66-08