logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

งานสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการเสวนาวิทยาศาสตร์ Mahidol Science Café 2024 เรื่อง “สเปรย์ฟิล์มบาง ลดอุณหภูมิ กู้มหันตภัยโลกเดือด”

       25 เมษายน 2567 งานสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ เสวนาวิทยาศาสตร์ Mahidol Science Café 2024 เรื่อง “สเปรย์ฟิล์มบาง ลดอุณหภูมิ กู้มหันตภัยโลกเดือด” รูปแบบ Hybrid ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท และถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ใน Facebook page : Mahidol University, Faculty of Science

       โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์และนักวิจัยที่มีประสบการณ์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ และ นายปฐวี สักกะตะ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มาร่วมเป็นวิทยากรเสวนาให้ถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ซึ่งมี อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์, อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยที่กิจกรรมในครั้งนี้ได้มีผู้ให้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทย์ ม.มหิดล พญาไท และรับชมทาง Facebook Live จำนวนยอดวิวรวมกว่า 1000 ครั้ง ภายใน 5 ชม

       ภายในงานได้มีการพูดคุยในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสภาพอากาศร้อนที่กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมากในสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสถานการณ์อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น สถิติอุณหภูมิในประเทศไทย วิธีโดยทั่วไปที่ใช้ลดอุณหภูมิ การนำหลักการทางฟิสิกส์มาใช้ในเรื่องการนำความร้อนและลดความร้อน รวมไปถึงการแนะนำเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในด้านของการลดอุณหภูมิ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

       ลำดับต่อมา ได้มีการพูดคุยในด้านประเด็นหลักที่สำคัญ โดยเจาะลึกถึงผลงานที่ได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง “กรรมวิธีการขึ้นรูปฟิล์มบางระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีด้วยการฉีดพ่น” ผลงานตีพิมพ์ระดับ Top 3% Impact factor = 8.9 “Radiative cooling film enabled by droplet-like infrared hot spots via low-cost and scalable spray-coating process for tropical regions” ซึ่งเกี่ยวกับ สเปรย์ฟิล์มบาง หรือฟิล์มระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถดึงความร้อนจากในอาคารสู่นอกอาคาร โดยไม่ใช้พลังงานใดๆ (passive cooling) โดยฟิล์มระบายความร้อนนี้เป็นวัสดุที่สามารถปล่อยรังสีความร้อนในช่วงความยาวคลื่น 8 – 13 ไมโครเมตรได้ดี ซึ่งช่วงนี้ถูกเรียกว่า atmospheric window เป็นช่วงหน้าต่างที่รังสีความร้อนอินฟราเรดถูกปลดปล่อยจากโลกสู่อวกาศ

       ซึ่งหากพูดถึงในแง่ของการนำไปใช้ประโยชน์นั้น จุดเด่นที่สำคัญของสเปรย์ฟิล์มบาง ก็คือความสามารถในการเคลือบพื้นผิวที่หลากหลาย เคลือบพื้นผิวขนาดเล็กใหญ่ตามต้องการ การมีต้นทุนต่อตารางเมตรที่ต่ำกว่าเทคโนโลยีคู่แข่ง และในแง่ของประสิทธิภาพในการลดความร้อน ตัวสเปรย์ฟิล์มบางสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยได้สูงสุดถึง 3.94 องศาเซลเซียส     

       นอกจากนี้ ทาง รศ. ดร. พงศกร กาญจนบุษย์ ยังมีแนวคิดที่กำลังจะสร้าง Start up ร่วมกับนักศึกษาในแลป ผ่านทาง iNT (สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม) โดยใช้ชื่อว่า “Passi-Cool” ย่อมาจาก passive cooling หรือการลดอุณหภูมิแบบไม่ใช้พลังงานนั่นเอง โดยใช้สีน้ำเงินเป็นสีหลัก เพื่อบ่งบอกว่านวัตกรรมนี้มาจากงานวิจัยดีๆ ของอาจารย์และนักศึกษา ม.มหิดล ซึ่งถ้าหาก start up นี้สำเร็จ ก็จะสามารถที่จะสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นนวัตกรรมดีๆจากประเทศไทยที่มีโอกาสนำใช้ในระดับสากลเพื่อลดความร้อน สำหรับผู้ที่มีความสนใจในผลงานที่ทาง รศ. ดร. พงศกร กาญจนบุษย์ ทำร่วมกับทีมวิจัยและนักศึกษา สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/KanjanaboosLab และช่องทางเว็บไซต์ของ ม.มหิดล https://mahidol.elsevierpure.com/en/persons/pongsakorn-kanjanaboos

       และสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/rFSIPQoMT3/ หรือติดตามอ่านบทความสรุปเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/simple-science/

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/apr67-25/