logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดงานเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café “Equal Life, Equal Love” ชีวิตเท่าเทียมเมื่อความรักเท่ากัน“ ส่งท้าย Pride Month

 

28 มิถุนายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา Mahidol Science Café “Equal Life, Equal Love” ชีวิตเท่าเทียมเมื่อความรักเท่ากัน แบบ Hybrid พูดคุยแบบสบาย ๆ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดกิจกรรมนี้เป็นครั้งที่ 2 และมีความตั้งใจที่จะจัดต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างความเข้าใจ เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBTQIAN+ สู่ประชาคมเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ จอห์นส์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้บรรยาย ณ บริเวณใต้อาคารเรียนรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

        โดยในช่วงเวลา 10:00-10:50 น. เป็นการเสวนาในเรื่องของนโยบายเพื่อความหลากหลายในการทำงานภาคเอกชนและภาครัฐจากมุมผู้บริหาร โดยมีอาจารย์ ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ. ดร.ณัฐวุฒิ พิมพานักวิชาการด้านธุรกิจระหว่างประเทศและการจัดการความหลากหลาย ณ วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีวิทยากรจากภาคเอกชนมาร่วมพูดคุยกัน คุณวิทยา แสงอรุณ หรือยอด บรรณาธิการบริหาร / ผู้ดำเนินรายการของเดอะเนชั่น 

        คุณวิทยา แสงอรุณ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าอัตลักษณ์ทางเพศนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อการทำงาน ทั้งการกดตัวเองเพื่อหน้าที่การงาน ทั้งการเซ็นเซอร์ตัวเอง(self-censorship)เพื่อตัดปัญหา เพราะรู้ว่าสังคมยังไม่ยอมรับ กลัวว่าจะไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีตของคนรู้จักที่ไม่สามารถสมัครเข้าทำงานได้หลังจากผ่านการแปลงเพศ จึงต้องใช้ทุกวิธีไม่ว่าจะเป็นการแปลงชื่อหรือเปลี่ยนรูปเพื่อผ่านการคัดเลือกรอบแรกและได้มีโอกาสทำงานพิสูจน์ตัวตน ในช่วงท้ายของการเสวนาคุณวิทยาได้กล่าวว่า “สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง การสมรสเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ยังไงก็ต้องเกิด แต่สิ่งที่สำคัญคือการต้องรวมกลุ่มกันเพื่อให้เกิดการมองเห็น ดั่งคำกล่าวที่ว่า Visibility is the key และสามารถที่จะยอมรับตัวตนของตัวเองได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว”

ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อชีวิตหลังวัยเรียนจากรั้วมหิดลสู่โลกที่หลากหลาย ดำเนินรายการโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งแขกรับเชิญที่เป็นศิษย์เก่าจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลทั้ง ได้แก่

  1. ดร.พอลลี่ ณฑญา ปฐมพงษ์ เป้ามีพันธ์ ผู้ช่วยวิจัยภาคเทคโนโลยีชีวภาพ Flavor Academy
  2. คุณธนพิพัฒน์ ศรีสุวรรณ Fashion Designer & Stylist
  3. คุณณัฐภัทร ใจห้าว Fitness Instructor / Online Marketing นักแสดงอิสระ / นักพากย์
  4. คุณวิชญพงศ์ แสงสวัสดิ์ Biology tutor & Thailand representative at Expo Milano 2015
  5. คุณภวิศ วีระนภากุล Skin Care & Cosmetic Fomulator / Product Director (Brand Pawis)

        ในการเสวนาแขกรับเชิญทั้ง 5 ท่าน ได้เล่าประสบการณ์ในตอนที่รู้ตัวว่าเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การถูกคนในครอบครัวต่อต้าน ความรู้สึกสับสนในตัวเอง และการยอมรับว่าตนเองนั้น Born to be this way ไม่ใช่ความผิดปกติอย่างที่สังคมเลยตราหน้า และพูดถึงการโดนเหยียดในที่ทำงาน ไม่ว่าจะจากเพศชาย เพศหญิง หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง ปิดท้ายด้วยการพูดถึงเรื่องประเด็นความรักของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกฏหมายที่ยังไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะการยอมรับจากครอบครัว โดยแขกรับเชิญทั้ง 5 ท่านได้ให้ความเห็นว่า มุมมองความรักนั้นเป็นไปตามยุคสมัย ในปัจจุบันไม่ควรมีอะไรมาจำกัดความรักไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม ความรักไม่ควรมีข้อจำกัดเพราะมันเกิดจากคนสองคนที่รักกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือควรมีหลักประกันว่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถดูแลซึ่งกันและกันได้อย่างสมบูรณ์ตามกฏหมาย

        ปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีสดโดยศิลปินน้อง ๆ จากวงโซเซ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารของคณะวิทยาศาสตร์ได้ทาง https://www.facebook.com/MahidolSC/ และรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/lxfBQdYOi5/

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/jun66-28_01