logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จัดเสวนา Mahidol Science Café “เพศกำเนิด เพศกำหนด” เปิดพื้นที่ปลอดภัยสร้างความตระหนักรู้ถึงความหลากหลายทางเพศ LGBTQIAN+ ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

28 มิถุนายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา Mahidol Science Café “เพศกำเนิด เพศกำหนด” แบบ Hybrid พูดคุยแบบสบาย ๆ สร้างความเข้าใจ เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBTQIAN+ สู่ประชาคมเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ โดยมี อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ นพ.สิระ กอไพศาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ จอห์นส์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้บรรยาย ต่อด้วยกิจกรรม MUSC Happy Pride Month ซึ่งประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการ Pride Exhibition ที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแชร์ความคิดเห็นในหัวข้อ Loving and Sharing ผลักดันความเท่าเทียมในประเด็น LGBTQIAN+ ปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีโดยศิลปินน้อง ๆ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ อาทิ อัฐ BE และวงละเมอ ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.นภัทร รัตน์นราทร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และ อาจารย์ ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ บริเวณอาคารเรียนรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 70 คน

ในการเสวนาผู้บรรยายทั้ง 4 ท่าน ได้ปูความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในทางชีววิทยาว่ามีความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ และอธิบายถึงเพศกำเนิดซึ่งถูกกำหนดจากโครโมโซมเพศตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ โดยผู้ที่มีโครโมโซม XX เป็นเพศหญิง ส่วนผู้ที่มีโครโมโซม XY เป็นเพศชาย และทำความเข้าใจเพศกำหนด หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็ได้ โดยไล่เรียงการพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศของคนหนึ่งคนตั้งแต่วัยเด็ก เปลี่ยนผ่านสู่วัยรุ่น เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา

ซึ่ง อาจารย์ นพ.สิระ กอไพศาล ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ทางเพศ ทั้งฮอร์โมน พันธุกรรม รวมถึงการเลี้ยงดู ซึ่งปัจจุบันในส่วนของฮอร์โมนพบว่าอิทธิพลของฮอร์โมนตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์แม่ มีผลกับการพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศของลูกในอนาคต แต่เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วการใช้ฮอร์โมนจะไม่สามารถเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศได้ และในส่วนของการเลี้ยงดูก็มีกรณีศึกษาชี้ให้เห็นว่าไม่สามารถเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศได้เช่นกัน

ในส่วนของการรับรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง อาจารย์ นพ.สิระ กอไพศาล กล่าวว่าเด็กจะเริ่มรับรู้ถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ตั้งแต่อายุประมาณ 3 – 6 ขวบ เริ่มคงที่ตั้งแต่ 6 – 7 ขวบ และเริ่มพัฒนาให้มั่นคงหลังอายุ 7 ขวบ เป็นต้นไป แต่เมื่อรับรู้ถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองแล้ว การแสดงตัวตนให้สังคมรับรู้อาจจะไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองเสมอไป เพราะในสังคมเราถูกกำกับความคิดเรื่องเพศด้วยกล่องความเป็นผู้หญิงและกล่องความเป็นผู้ชายด้วยวิธีอย่างไม่เป็นทางการ เช่น ความเชื่อทางศาสนา และอย่างเป็นทางการผ่านสถาบันทางสังคม เช่น โรงเรียน ที่มีกฎระเบียบ แนวทางปฏิบัติแยกหญิง – ชาย ซึ่งส่วนมากแล้วเรามักจะถูกกำกับความคิดเรื่องเพศอย่างเบาในครอบครัว แต่กลับถูกกำกับความคิดอย่างหนักผ่านสถาบันทางสังคมอื่น ๆ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อธิบาย ดังนั้นการแสดงออกทางเพศจึงไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิด และอัตลักษณ์ทางเพศเสมอไป

นอกจากนั้น เพศยังมีความลื่นไหล (Gender fluidity) อีกด้วย การมีความรักจึงไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับบทบาทของการเป็นฝ่ายรุก – รับ ซึ่งเป็นการมองความสัมพันธ์โดยใช้กล่องความเป็นผู้หญิงและกล่องความเป็นผู้ชาย หรือต้องเชื่อมโยงกับอัตลักษ์ทางเพศตลอดไป แต่สามารถลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ตามรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) ที่มีทั้งมุม Eroticism และ Romanticism ซึ่งเราสามารถมีรสนิยมทางเพศทั้ง 2 ด้านแตกต่างกันได้โดยที่ไม่เป็นอันตรายกับตนเอง การหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสำรวจตนเองว่ามีความชอบแบบไหนในช่วงเวลานั้นโดยโยนกล่องความเป็นผู้หญิงและกล่องความเป็นผู้ชายทิ้งไป จะช่วยให้เราเข้าใจรสนิยมทางเพศ ความลื่นไหลของเพศ รวมถึงเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นและมีการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเพศมากกว่าในอดีต แต่ในสังคมยังคงมีการ “ตีตราประทับมลทิน” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นชุดความคิดที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และผลิตซ้ำในรูปแบบของการปฏิบัติต่อบุคคล ข้อตกลงในการปฏิบัติภายในองค์กร ไปจนถึงการออกกฎหมาย นโยบายของประเทศที่ขาดความเข้าใจและไม่รองรับความหลากหลายทางเพศ เปรียบเสมือนกำแพงที่มองไม่เห็นที่กีดกันผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจากโอกาส ความก้าวหน้า ทรัพยากร รวมถึงสิทธิต่าง ๆ เช่น การสมรส การอนุมัติให้แพทย์รักษาคู่สมรสในยามเจ็บป่วย การรับรองเพศสภาพ การมีบุตรด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อีกด้วย ดังนั้นจึงมีการเดินขบวนพาเหรดรณรงค์สร้างการรับรู้และความตระหนักเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ ในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนแห่งการครบรอบเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) เพื่อเรียกร้องสิทธิ และศักดิ์ศรีของผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ

และถึงแม้เราจะไม่ใช่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เราก็สามารถร่วมกันสร้างระบบสนับสนุนและพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ที่มีความหลายหลากทางเพศได้ตั้งแต่ระดับบุคคลโดยการไม่ตัดสินจากภายนอก เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาคิดอย่างไร ผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้าง ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางไม่ระบุเพศ เช่น ชมว่าดูดี แทนคำว่าสวย – หล่อ ระดับครอบครัวโดยพ่อแม่ยอมรับตัวตนของลูกและรักลูกโดยไม่มีเงื่อนไข หรือระดับองค์กร เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประกาศให้นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ ไม่ใช้คำนำหน้านาม และเริ่มจัดให้มีห้องน้ำสำหรับทุกเพศ ระดับนโยบายโดยให้ตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปมีบทบาทร่วมในการผลักดัน กำหนดนโยบาย และออกกฎหมาย เป็นต้น

ในตอนท้ายของการเสวนา อาจารย์ ดร.พหล โกสิยะจินดา กล่าวว่าอยากให้เราเคารพผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่นและให้เกียรติตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ด้าน อาจารย์ นพ.สิระ กอไพศาล ได้ฝากว่าหากใครต้องการคำปรึกษา หรือมีความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการข้ามเพศ มีแพทย์พร้อมให้ความช่วยเหลือที่คลินิกเพศหลากหลาย Gender Variation Clinic หรือ Gen V Clinic โรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะที่ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ ได้ปิดท้ายว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะเข้าใจและเคารพกัน เมื่อเราสร้างสังคมที่เคารพกันก็จะสามารถช่วยออกแบบการปฏิบัติและหาทางออกในทิศทางที่ดีได้ อยากฝากถึงทุกคนว่าเสียงของทุกคนมีความหมาย การเงียบเสียงไม่ช่วยให้อะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเราจะไม่ใช่ LGBTQIAN+ แต่การส่งเสียงออกมาจะช่วยให้เราออกแบบระบบนิเวศวิทยาที่ส่งผลดีต่อกันและกันได้ ปิดท้ายด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ จอห์นส์ แสงวิไล ซึ่งกล่าวว่า ตั้งแต่ที่เราระบุอัตลักษณ์ของตัวเองได้ ผ่านการเดินทางฟันฝ่าอุปสรรคหลายประการในฐานะผู้มีความหลากหลายทางเพศ ท้ายที่สุดแล้วการยอมรับตัวเองในสิ่งที่เป็นโดยไม่ต้องขอโทษใครเป็นความสุขที่สุดในชีวิต หวังว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจและยอมรับในตนเอง ขอเป็นกำลังใจให้กับชาว LGBTQIAN+ ทุกคน สำหรับกิจกรรมเฉลิมฉลอง Pride Month ในปีนี้จะไม่ใช่ปีสุดท้าย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะปัญญาของแผ่นดินจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/jun65-28