logoSC

Mahidol Science Sustainable Development Goals (SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ตอน Blood Moon Party: ลอยกระทงไม่เหงา เพราะเรามาดูจันทรุปราคาด้วยกัน เปิดบ้านตั้งกล้องส่องเพ็ญเดือน 12 สีเลือดรอบสุดท้ายของปี 2565

8 พฤศจิกายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ตอน Blood Moon Party: ลอยกระทงไม่เหงา เพราะเรามาดูจันทรุปราคาด้วยกัน เปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา อาจารย์และผู้สนใจร่วมส่องกล้องโทรทรรศน์ดูปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง “จันทร์เพ็ญสีเลือดเดือน 12” ในวันลอยกระทง พร้อมฟังสาระน่ารู้ของปรากฏการณ์จันทรุปราคาและดวงจันทร์ และถามตอบแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์อวกาศ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ, อาจารย์ ดร.เพชระ ภัทรกิจวานิช นักฟิสิกส์อวกาศและอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์อวกาศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ระเบียงหน้าห้อง R603 อาคารวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 104 คน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ได้อธิบายเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ว่า “จันทรุปราคา” เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางและดวงจันทร์จะโคจรเข้ามาในเงาของโลก ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะเข้ามาใน “เงามัว” (penumbra) ของโลก โดยความสว่างของดวงจันทร์ลดลงไม่มากจากปกติจึงยากจะสังเกตเห็นความแตกต่าง จากนั้นดวงจันทร์ทั้งดวงจะเข้าไปใน “เงามืด” (umbra) ของโลก โดยความสว่างของดวงจันทร์จะลดลงมาก ซึ่งในช่วงเวลานี้เราจะสังเกตเห็นดวงจันทร์มีสีแดงเข้ม เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกเกิดการหักเหที่ชั้นบรรยากาศของโลกทำให้แสงสีฟ้ากระเจิงออกออกไปเหลือเพียงสีแดง เมื่อแสงนี้ตกกระทบกับดวงจันทร์และสะท้อนกลับมายังโลกอีกครั้ง เราจึงเห็นจันทรุปราคาเป็นสีแดงในทำนองเดียวกันกับที่เราเห็นพระอาทิตย์เป็นสีแดงเมื่อใกล้ลับขอบฟ้า ขณะที่สุริยุปราคานั้น เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง และโลกจะโคจรเข้ามาในเงาของดวงจันทร์ ทำให้เราเห็นดวงอาทิตย์มีแสงมืดลงนั่นเอง

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมจึงไม่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาทุกเดือน เนื่องจากเมื่อเราพิจารณาดูระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และระนาบวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกแบบ 3 มิติ จะพบว่าระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ทำมุมกับระนาบของโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ 5 องศา เมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์มาโคจรมาอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน คือเส้นที่ระนาบของวงโคจรทั้ง 2 ตัดกันจะเกิดเงามืดขึ้นได้ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วช่วงเวลาที่มีโอกาสเกิดจันทรุปราคา และสุริยุปราคา หรือที่เรียกว่า Eclipse seasons จะอยู่ที่ประมาณ 2 ครั้งต่อปี โดยแต่ละครั้งจะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา หรือสุริยุปราคา ประมาณ 2 – 3 ครั้ง ในช่วง 31 – 37 วัน

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในปี พ.ศ. 2565 ที่มีความพิเศษและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงตามประเพณีไทย และสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย

โดยในช่วงแรกของปรากฏการณ์เกิดขึ้นใต้เส้นขอบฟ้าเราจึงไม่สามารถสังเกตเห็นได้ จากนั้นเมื่อดวงจันทร์เริ่มขึ้นเหนือขอบฟ้าเราจึงสามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาเต็มดวง และช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ลึกที่สุดในเงามืด (greatest eclipse) ในเวลา 17:59 น. แล้วจึงเริ่มออกจากเงามืดบางส่วน (third umbral contact) เป็นการสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มเข้าสู่จันทรุปราคาบางส่วนเวลา 18:41 น. และออกจากเงามืดทั้งดวง (fourth umbral contact) เวลา 19:49 ก่อนออกจากเงามัวแล้วกลับมาสว่างเต็มดวงตามปกติเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในเวลา 20:56 น. ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงส่งท้ายปี พ.ศ. 2565 ก่อนที่เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาได้ในพื้นที่ประเทศไทยเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี เพราะขณะที่เกิดปรากฏการณ์ เวลาท้องถิ่นที่ประเทศไทยจะเป็นกลางวันทั้งหมด โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่สามารถสังเกตเห็นได้จากประเทศไทยครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นตรงกับคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2568

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจกิจกรรมเสวนา Mahidol Science Café สามารถติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรม และข่าวต่าง ๆ คณะวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจได้ที่ https://www.facebook.com/MahidolSC

ภาพข่าว: https://science.mahidol.ac.th/news/nov65-08