คณะวิทย์ ม.มหิดล จัดกิจกรรมศึกษาดูงานด้าน Post-Harvest Quality Control and Waste Utilization of Seafood Product ในประเทศไทย ให้กับอาจารย์และนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการ และ นักศึกษาจากประเทศอินเดีย

5 ตุลาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี ให้การต้อนรับนักศึกษาจาก College of Fisheries Guru Angad Dev Veterinary and Animal Sciences University, Punjab ประเทศอินเดีย จำนวน 12 คน เนื่องในโอกาสเข้าศึกษาดูงานด้าน “การควบคุมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและการใช้ประโยชน์จากของเสียในกระบวนการผลิตและแปรรูปอาหารทะเลในประเทศไทย” รวมไปถึงศึกษาการจัดการศึกษาและกิจกรรมทางห้องปฏิบัติการและการวิจัยที่เกี่ยวข้องของคณะวิทยาศาสตร์
โดยกิจกรรมในช่วงเช้า นักศึกษาจากประเทศอินเดียได้เข้าเยี่ยมชมโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพ (Startup) ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนสำหรับด้าน “Food Tech Startup” ในประเทศไทย อันเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ณ อาคารชีววิทยาใหม่ ชั้น 6 โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี เป็นผู้บรรยายและนำนักศึกษาเยี่ยมชมกิจกรรมของโครงการ จากนั้นจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-learning) โดยเปิดประสบการณ์ลิ้มลองรสชาติอาหารไทยจากตลาดนัด และโรงอาหารคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนได้สัมผัสบรรยากาศด้านวัฒนธรรมอาหารและพฤติกรรมการบริโภคอันหลากหลายของคนไทย
ในช่วงบ่ายนักศึกษาได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery: ECDD) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (Thailand Center of Excellent for Life Science: TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรค และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาตัวยาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ และ ดร. ณิชกานต์ สมัยนุกุล นำบรรยายและเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์
นอกจากนี้นักศึกษามีโอกาสเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมทางวิชาการ การวิจัย และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ณ หน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง (Center of Excellence for Shrimp Molecular Biology and Biotechnology- CENTEX Shrimp) นำบรรยายโดย ดร.แสงจันทร์ เสนาปิน นักวิจัยอาวุโส โดย CENTEX Shrimp เป็นหน่วยวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (National Center for Genetic Engineering and Biotechnology – BIOTEC) โดย CENTEX Shrimp ดำเนินการโดยนักวิจัยและอาจารย์จาก 3 ภาควิชาของคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ภาควิชาชีวเคมี และภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกับนักวิจัยจาก BIOTEC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เพื่อดำเนินการวิจัยทางวิชาการที่มีความเป็นเลิศในด้านชีวโมเลกุลและเทคโนโลยีชีวภาพของกุ้ง และนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งและปลา เพื่อนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปแก้ปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำอื่นๆ ในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย

เขียนข่าว : นายเสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร. ปฐมพงษ์ แสงวิไล
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 11 สิงหาคม 2566