อาจารย์ภาควิชาเคมี วิจัยกระบวนการแยกและใช้ประโยชน์เส้นใยจากใบสับปะรด ลดการปล่อยคาร์บอน ต่อการยอดผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม ประจำปีการศึกษา 2565

6 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าวประกาศผลรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 เปิดตัวผู้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการแต่งตำรา สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม และสาขาความเป็นครู ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานกล่าวถึงความเป็นมาของรางวัล และประกาศผลการตัดสินรางวัล
โดยในปีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ โดยเฉพาะเส้นใยธรรมชาติและวัสดุ composite อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม ซึ่งมอบให้กับผู้ที่มีผลงานประดิษฐ์คิดค้น ผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีใหม่ ที่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย หรือได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จากผลงานเรื่อง ‘การพัฒนากระบวนการแยกและใช้ประโยชน์เส้นใยจากใบสับปะรด’
ผลงานนี้เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์หากระบวนการใหม่ในการแยกเส้นใยจาก‘ใบ’ และ ‘ลำต้น’ หรือ ‘เหง้า’ สับปะรดที่เหลือทิ้งมาทำให้เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ตลอดจนทนอุณหภูมิได้สูงขึ้น สามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อทดแทนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ตลอดจนอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ อาทิ อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย ได้นำผลงานวิจัยเส้นใยใบสับปะรดมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ร่วมกับนักศึกษาเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และต่อยอดไปสู่การก่อตั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ร่วมกัน
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกสับปะรดรายใหญ่ของโลก มีพื้นที่ปลูกสับปะรดกว่า 600,000 ไร่ ซึ่งการผลักดันเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยใบสับปะรด จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ที่สามารถขายใบสับปะรดเป็นรายได้เสริม ลดรายจ่ายจากการจัดการเศษใบเหลือทิ้ง ย่นระยะเวลาในการรอเศษใบแห้งก่อนการไถกลบและปลูกในรอบถัดไป การสร้างงานในชุมชน โดยนำเส้นใยไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกักเก็บคาร์บอนในรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทนถาวรได้

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 6 ตุลาคม 2566